วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2566

คำคล้องจอง สัมผัสนอก สัมผัสใน ของบทร้อยกรอง

     หลายครั้งที่เราต้องแต่งคำประพันธ์ สิ่งที่จะขาดไม่ได้นอกจากเราต้องรู้จักฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์แต่ละชนิดแล้ว  ยังต้องมี คำสัมผัส  ที่เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้คำประพันธ์ของเรามีความไพเราะ และมีความเป็นเทพอยู่ในตัว นั่นก็คือ สัมผัสนอก  และสัมผัสใน  นั่นเอง

        สัมผัสนอก  เรียกอีกอย่างว่า  สัมผัสบังคับ  เป็นสัมผัสบังคับของคำประพันธ์แต่ละชนิด  ซึ่งเป็นสัมผัสที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงระหว่างวรรคต่อวรรค  หรือเชื่อมโยงระหว่างบท  ซึ่งเราจะเรียกสัมผัสที่เชื่อมระหว่างบทว่า  "สัมผัสระหว่างบท"  นั่นเอง

ถ้าขาดสัมผัสนอก  คำประพันธ์นั้น ก็จะผิดฉันทลักษณ์ไปทันที และตกรอบแรกเลยจ้า

        สัมผัสใน  เป็นสัมผัสที่แสดงความเป็นเทพของผู้แต่งคำประพันธ์นั้น ๆ  เพราะเป็นคำสัมผัสที่คล้องจองกันในแต่ละวรรคเท่านั้น  ไม่ใช่คำสัมผัสข้ามวรรค

        สัมผัสใน  แบ่งได้ ๒ ประเภท คือ สัมผัสสระ  และ  สัมผัสพยัญชนะ (สัมผัสอักษร) ดังนี้

๑. สัมผัสสระ  มีหลักการสังเกต ดังนี้

    ๑.๑ ถ้าเป็นคำที่มีเฉพาะสระ ไม่มีตัวสะกด  ก็ต้องให้สระมีเสียงเดียวกัน  เช่น   นา   มา  ยา   หา   ข้า   ล่า   ป๋า  

    ๑.๒ ถ้าเป็นคำที่มีตัวสะกด  สัมผัสสระ จะต้องมีเสียงสระเหมือนกัน และมีตัวสะกดในมาตราเดียวกัน  เช่น   คล้อย   ย้อย   จอย   ปอย   ปล่อย   ย่อย   สอย 

     หลักการหาสัมผัส  ให้เราคำนึงถึงการออกเสียงเป็นหลัก  ไม่ต้องกังวลว่ารูปพยัญชนะตัวสะกดจะตรงมาตราหรือไม่  เช่น  คำว่า  กัลป์   ให้ออกเสียง  อัน   แล้วเราก็หาคำที่ออกเสียง  อัน    เช่น   จันทร์    ทัน   บรร    สรร   สันต์   จัญ  

    จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า คำที่มีเสียง  อัน  แม้ว่าจะมีรูปตัวสะกดต่างกัน แต่ก็อยู่ในมาตราแม่ กน ทุกตัว

๒. สัมผัสพยัญชนะ หรือ สัมผัสอักษร   มีหลักสังเกต  ดังนี้

    ๒.๑ คำนั้นต้องใช้พยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน  (เน้นว่า  เสียงเดียวกัน ซึ่งอักษรสูงและอักษรต่ำ นับว่าเป็นเสียงเดียวกัน  ได้แก่   ข - ค - ฆ  /  ฉ - ช / ฐ - ถ - ท - ฑ - ฒ - ธ / ผ - พ - ภ / ฝ -ฟ / ศ - ษ - ส - ซ /  ห - ฮ)  

    ๒.๒  ไม่ต้องดูว่า คำนั้นมีสระหรือตัวสะกดในมาตราเดียวกันหรือไม่  เพราะเราเน้นที่เสียงพยัญชนะต้น  เป็นหลัก   เช่น  เมื่อมั่งมีมากมายมิตรหมายมอง    (ใช้เสียง  /ม/)

    ๒.๓  ถ้าดูรูปคำแล้วสับสน  ให้อ่านคำนั้นเป็นแบบอักษรย่อ ก็จะทำให้เราออกเสียงได้ชัดขึ้น  เช่น  จะจับจองจ่องจ้องสิ่งใดนั้น   ให้อ่านเป็น   จ จ จ จ จ ส ด น   (ใช้เสียง /จ/ มากที่สุด)

 สินสมุทรสุดฉลาดไม่อาจบอก   ให้อ่านเป็น   ส  ส  ม  ส  ฉ  ล  ม  อ  บ   (ใช้เสียง /ส/ จำนวน ๓ พยางค์  คือ  สินสมุทรสุด) เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เราเห็นตัวย่อของคำได้ครบทุกพยางค์นั่นเอง

        หวังว่า ผู้อ่านคงจะได้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยไปใช้กันบ้างนะคะ  

        เพียงเท่านี้  การหาสัมผัสนอก และสัมผัสในจากบทร้อยกรอง จะง่ายขึ้นกว่าเดิมมากเลยจ้า


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น