วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564

ข้อสอบระดับภาษา

 ๑.ข้อใดใช้ระดับภาษาเหมาะสมในการเขียนรายงานวิชาการ

    ๑.การท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์เป็นการท่องเที่ยวรูปแบบแปลกใหม่มากที่ได้รับความนิยมในยุคนี้

    ๒.การท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์เป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่มุ่งรักษาธรรมชาติอย่างยั่งยืน

    ๓.นักท่องเที่ยวจำพวกปากว่าตาขยิบมักจะไม่สนใจการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์เหมือนที่คนอื่นคิด

    ๔.นักท่องเที่ยวรู้ว่าการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์มีคุณค่าที่วิเศษยิ่งดังดวงอาทิตย์ที่ให้แสงแก่สรรพชีวิต

๒.ข้อใดไม่ใช่ระดับภาษาทางการ

    ๑.เมืองเพตรา ประเทศจอร์แดนเป็น ๑ ใน ๗ สิ่งมหัศจรรย์ของโลก

    ๒.เมืองเพตราเป็นนครโบราณกลางทะเลทรายที่เกิดขึ้นมากว่า ๒,๐๐๐ ปี

    ๓.จุดเด่นของเมืองเพตราคือปราสาทหินแกะสลัก (The Treasury) ที่สวยงาม

    ๔.เมื่อย่ำเท้าเข้าไปอีกไม่ไกลนักจะเห็นเนินผาหินสีชมพู ซึ่งจะทำให้เรารู้ซึ้งถึงความมหัศจรรย์ของโลก

๓.บุคคลในข้อใดใช้ระดับภาษาได้เหมาะสมกับสถานการณ์

    ๑.เพื่อนกล่าวทักทายเพื่อนสนิทว่า "ท่านสบายดีหรือขอรับ"

    ๒.พี่สาวใช้คำว่า "คอมพิวเตอร์" ในรายงานวิชาการหลายครั้ง

    ๓.น้องชายลงท้ายจดหมายกิจธุระว่า "ขอแสดงความนับถืออย่างสูง"

    ๔.พิธีกรกล่าวทักทายในงานสัมมนาวิชาการว่า "ท่านสุภาพบุรุษ  สุภาพสตรีและเพศที่เหลือทุกท่าน"

๔.ข้อความสองข้อใดใช้ภาษาปาก

    ๑.คุณสะดวกที่จะทำงานนี้หรือไม่

    ๒.ดิฉันเห็นว่าค่าครองชีพในปัจจุบันสูงขึ้นมาก

    ๓.ธรรมชาตินั้นให้แต่คุณประโยชน์แก่มนุษย์จริงหรือ

    ๔.ถ้าคนเราจะยอมลดความเห็นแก่ตัวลงไปซักหน่อย โลกก็คงน่าอยู่กว่านี้

    ๕.บนทางเท้าในกรุงเทพ ฯ มักจะเต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ขาย  เค้าขายของกันหลายอย่าง

๕.ข้อความสองข้อใดใช้ภาษาเขียน

    ๑.ผมสงสัยว่าอีกสักร้อยปีโลกจะเป็นยังไง

    ๒.ดิฉันรู้สึกว่าโลกนี้ช่างอยู่ยากขึ้นไปทุกวัน

    ๓.ขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

    ๔.นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวดวงอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกับโลก

    ๕.หลายคนไม่ชอบรับประทานอาหารเช้า จะทานแต่ขนมปังกับกาแฟเท่านั้น

๖.ข้อความสองข้อใดเป็นคำภาษาปาก

    ๑.ฉันชอบดื่มกาแฟร้านนี้เพราะคนชงกาแฟมีฝีมือขั้นเทพ

    ๒.เขาเป็นนักธุรกิจอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีชื่อเสียงของประเทศ

    ๓.คุณยายดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

    ๔.ผลงานของคุณได้รับรางวัลชนะเลิศเพราะเป็นผลงานที่สุดยอดมาก

    ๕."กิจกรรมเล่านิทานสร้างสรรค์" จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐

๗.ข้อความสองข้อใดเป็นภาษาระดับทางการ

    ๑.นับวันวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์จะมีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกที

    ๒.ฝ่ายหารายได้จัดทำของที่ระลึกออกมาจำหน่าย ปรากฏว่าขายดิบขายดีจนต้องสั่งผลิตเพิ่มอีก

    ๓.สตรีไทยนิยมแต่งกายด้วยผ้าซิ่นและโจงกระเบนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

    ๔.แคคตัสเป็นต้นไม้ที่มีเสน่ห์ แต่มองเผิน ๆ แล้วอาจจะรู้สึกว่าต้นไม้นี้มีอันตรายเพราะลำต้นเต็มไปด้วยหนาม

    ๕.ทุเรียนเป็นผลไม้มีฤทธิ์ร้อน ต้องรับประทานมังคุดที่เป็นผลไม้มีฤทธิ์เย็นด้วย ร่างกายจึงจะคลายความร้อนได้

๘.ข้อความสองข้อใดเป็นภาษาระดับทางการ

    ๑.เขาเป็นนักปลูกบัวที่มีฝีมือและมีความรู้ชนิดหาตัวจับยากคนหนึ่ง

    ๒.บัวเป็นต้นไม้ที่ดูแลไม่ยาก  เติบโตรวดเร็ว  ภายในเวลาแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้นเอง

    ๓.นอกจากเขาจะขายกาแฟแล้ว ในเร็ว ๆ นี้เขามีแพลนว่าจะต่อยอดธุรกิจการเลี้ยงผึ้งอีกด้วย

    ๔.เรือนเพาะชำกล้วยไม้ ควรมีหลังคาที่ใช้วัสดุชนิดโปร่งแสงป้องกันฝนและให้อากาศถ่ายเทให้ดี

    ๕.คริสโตเฟอร์  โคลัมบัสเดินทางไปยังหมู่เกาะเวสต์อินดีสและได้พบแคคตัสขนาดใหญ่สายพันธุ์ต่าง ๆ 

๙.ข้อความสองข้อใด ใช้ภาษาระดับทางการในการเขียนรายงาน

    ๑.การเดินทางเป็นการแสวงหาประสบการณ์ชีวิต

    ๒.หน้ากากอนามัยกันฝุ่นพิษจิ๋ว ๆ ๒.๕ พี เอ็ม หาซื้อยาก

    ๓.สังคมในยุคปัจจุบันมีเครื่องอำนวยความสะดวกนานาชนิด

    ๔.หน้าร้อนนี้หลายครอบครัวเดินทางไปเที่ยวชายทะเลจังหวัดต่าง ๆ 

    ๕.ดารานักแสดงต่างตั้งตาคอยการประกาศผลนักแสดงยอดเยี่ยมประจำปี

๑๐.ข้อความสองข้อใดใช้ภาษาเขียนได้ถูกต้อง

    ๑.แม้พ่อจะเป็นผู้ใช้แรงงาน แต่ลูกชายก็เรียนจบแพทย์

    ๒.ในฤดูเก็บเกี่ยว  ชาวนาในชนบทจะลงแขกเกี่ยวข้าวกัน

    ๓.ปีนี้รัฐบาลทุ่มงบประมาณซ่อมแซมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

    ๔.โรงรับจำนำแทบทุกแห่งมีผู้มาใช้บริการมากช่วงเปิดภาคเรียน

    ๕.หนังสือการ์ตูนเป็นหนังสือที่ใช้คำพูดน้อยแต่ให้ข้อคิดและอารมณ์ขัน


เฉลย

๑. ตอบข้อ ๒ เพราะข้อ ๑ ใช้คำว่า ยุคนี้

                    เพราะข้อ ๓ ใช้คำว่า ปากว่าตาขยิบ

                    เพราะข้อ ๔ ใช้คำว่า มีคุณค่าที่วิเศษยิ่งดังอาทิตย์ที่ให้แสงแก่สรรพชีวิต  

๒.ตอบข้อ ๔  เพราะมีการใช้คำ ซึ่งจะทำให้เรารู้ซึ้งถึง....

๓.ตอบข้อ ๒ เพราะในรายงานวิชาการสามารถใช้คำทับศัพท์ได้

๔.ตอบข้อ ๔ และ ๕  โดยมีข้อสังเกตคือ ข้อ ๔ ดูจากข้อความ "โลกก็คงน่าอยู่กว่านี้"   

 และข้อ ๕  ดูจากข้อความ "...พ่อค้าแม่ขาย  เค้าขายของกันหลายอย่าง"

๕.ตอบข้อ ๓ และ ๔  ส่วนข้ออื่น ๆ มีภาษาพูดปนอยู่ด้วย  (สังเกตจากคำที่ขีดเส้นใต้)  ดังนี้

    ข้อ ๑.ผมสงสัยว่าอีกสักร้อยปีโลกจะเป็นยังไง

    ข้อ ๒.ดิฉันรู้สึกว่าโลกนี้ช่างอยู่ยากขึ้นไปทุกวัน

    ข้อ ๕.หลายคนไม่ชอบรับประทานอาหารเช้า จะทานแต่ขนมปังกับกาแฟเท่านั้น

๖.ตอบข้อ ๑ และ ๔  เนื่องจาก ข้อ๑ มีภาษาปากคือ ฝีมือขั้นเทพ  คือ ฝีมือดีมาก  ชำนาญมาก

   ข้อ ๔ มีภาษาปากคือ  สุดยอดมาก  คือ ยอดเยี่ยม   ดีเลิศ

๗.ตอบข้อ ๓ และ ๕   ส่วนข้ออื่น ๆ ใช้ภาษาไม่เป็นทางการ  คือคำที่ขีดเส้นใต้  ดังนี้

    ข้อ ๑ นับวันวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์จะมีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกที

    ข้อ ๒ ฝ่ายหารายได้จัดทำของที่ระลึกออกมาจำหน่าย ปรากฏว่าขายดิบขายดีจนต้องสั่งผลิตเพิ่มอีก

    ข้อ ๔ แคคตัสเป็นต้นไม้ที่มีเสน่ห์ แต่มองเผิน ๆ แล้วอาจจะรู้สึกว่าต้นไม้นี้มีอันตรายเพราะลำต้นเต็มไปด้วยหนาม

๘.ตอบข้อ ๔ และ ๕ ส่วนข้ออื่น ๆ ใช้ภาษาที่ไม่เป็นทางการ คือคำที่ขีดเส้นใต้ ดังนี้

    ข้อ ๑  เขาเป็นนักปลูกบัวที่มีฝีมือและมีความรู้ชนิดหาตัวจับยากคนหนึ่ง

    ข้อ ๒ บัวเป็นต้นไม้ที่ดูแลไม่ยาก  เติบโตรวดเร็ว  ภายในเวลาแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้นเอง

    ข้อ ๓ นอกจากเขาจะขายกาแฟแล้ว ในเร็ว ๆ นี้เขามีแพลนว่าจะต่อยอดธุรกิจการเลี้ยงผึ้งอีกด้วย

๙.ตอบข้อ ๑ และ ๓  ส่วนข้ออื่น ๆ มีการใช้ภาษาไม่เป็นทางการ  ดังนี้

    ข้อ ๒ หน้ากากอนามัยกันฝุ่นพิษจิ๋ว ๆ ๒.๕ พี เอ็ม หาซื้อยาก

    ข้อ ๔ หน้าร้อนนี้หลายครอบครัวเดินทางไปเที่ยวชายทะเลจังหวัดต่าง ๆ 

    ข้อ ๕ ดารานักแสดงต่างตั้งตาคอยการประกาศผลนักแสดงยอดเยี่ยมประจำปี

๑๐.ตอบข้อ ๒ และ ๕  เนื่องจากข้ออื่น ๆ มีการใช้ภาษาพูด ดังนี้

    ข้อ ๑ แม้พ่อจะเป็นผู้ใช้แรงงาน แต่ลูกชายก็เรียนจบแพทย์  (ใช้ภาษาต่างระดับกัน)

    ข้อ ๓ ปีนี้รัฐบาลทุ่มงบประมาณซ่อมแซมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

    ข้อ ๔ โรงรับจำนำแทบทุกแห่งมีผู้มาใช้บริการมากช่วงเปิดภาคเรียน


วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2564

ข้อสอบข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น

 สวัสดีค่ะ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็นกันก่อนทำแบบทดสอบนะคะ

    ข้อเท็จจริง คือ ข้อมูลหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามจริง  อาจเป็นจริงหรืออาจเป็นเท็จก็ได้ ขึ้นอยู่กับหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ยืนยันว่าสิ่งต่าง ๆ นั้นเป็นจริงหรือไม่  มีความสมจริง  มีความสมเหตุสมผลและมีความเป็นไปได้

    ข้อคิดเห็น คือ ความคิด ความรู้สึก หรือความเห็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นการคาดคะเน  เป็นการแสดงการเปรียบเทียบหรืออุปมาอุปไมย หรืออาจเป็นข้อเสนอแนะ  ไม่มีข้อยืนยันที่แน่นอน  (อาจสังเกตจากคำว่า "อาจ/ อาจจะ/ ....กว่า/ คาดว่า/ น่าจะ / ควรจะ /.....ที่สุด " ที่ปรากฏในข้อความ)

    เมื่อเรารู้เกี่ยวกับหลักการพิจารณาลักษณะของข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นกันแล้ว  มาลองทำแบบทดสอบต่อไปนี้กันดูค่ะ...

๑. ข้อความต่อไปนี้ส่วนใดเป็นข้อความแสดงข้อเท็จจริง

    ๑.ผู้เขียนเป็นนักประพันธ์สมัครเล่นในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด ๑๙

    ๒.นับว่าเป็นการเลือกทำงานได้ถูกที่ถูกเวลาเป็นอย่างมาก

    ๓.เพราะได้ทำงานอยู่กับบ้าน ดีกว่าออกไปพบปะผู้คนนอกบ้าน

    ๔.แต่ละวันจึงผ่านไปอย่างมีชีวิตชีวา


๒.ข้อใดเป็นข้อความที่แสดงข้อคิดเห็น

    ๑.คุณป้าบริจาคที่ดินที่เป็นมรดกตกทอดให้โรงเรียนเทศบาลวัดท้าวโคตร จังหวัดนครศรีธรรมราช

    ๒.โรคระบาดโควิด ๑๙ เริ่มระบาดในนครอู่ฮั่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ.๒๕๖๒

    ๓.ตู้หนังสือของบ้านในอดีตเป็นแรงบันดาลใจให้ฉันอยากมีบ้านหนังสือเพื่อช่วยให้เด็กได้เรียนรู้สังคมอย่างมีความสุข

    ๔.หอสมุดแห่งชาติเดิมชื่อหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ได้ดำเนินการมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ถึงปัจจุบัน


๓.จากรายงานข่าวต่อไปนี้ ส่วนใดไม่ใช่ข้อเท็จจริง

    ๑.ยุคนี้เป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตอยู่ในอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เชื่อมต่อกับเครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบทุกประเภทได้

    ๒.เช่นใช้โทรศัพท์สั่งให้เครื่องฟอกอากาศทำงานล่วงหน้าเพื่อขจัดฝุ่นภายในบ้าน

    ๓.ผู้คนจึงน่าจะสะดวกสบายมากขึ้น เพราะสามารถสั่งให้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ทำงานได้เองแม้ไม่ได้อยู่ที่บ้าน

    ๔.ยุคนี้เป็นยุคที่อุปกรณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้


๔. ข้อความต่อไปนี้ส่วนใดเป็นความคิดเห็น

    ๑.การเซ็นสำเนาเอกสารราชการเป็นเรื่องที่เราทำเมื่อดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ 

    ๒.แต่รู้กันหรือไม่ว่า ในบางครั้งมิจฉาชีพก็อาจนำข้อมูลของเราไปใช้ได้ถ้าเราไม่รอบคอบในการเซ็นเอกสาร

    ๓.โดยเฉพาะการเซ็นสำเนาบัตรประชาชนที่เก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเราเอาไว้

    ๔.เช่น เลขประจำตัว  วันเดือนปีเกิด และที่อยู่ เป็นต้น


๕. "ความรักทำให้คนตาบอด" ข้อใดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อความนี้ได้ดีที่สุด

    ๑.คนที่มีความรักเป็นคนโง่

    ๒.คนที่มีความรักชอบหลอกตนเองและใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล

    ๓.ความรักทำให้เกิดความพอใจ จึงมองข้ามข้อบกพร่องบางอย่างไป

    ๔.ความรักทำให้ขาดสติ ไม่มองสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง เราจึงไม่ควรมอบความรักให้ใครนอกจากตนเอง


๖.ข้อความใดแสดงข้อเท็จจริง

    ๑.สุกรจินหัว แพะนมเหลาซานและเป็ดอี้เหลียง นับว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีสายพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลก

    ๒."บ้านหอมเทียน" อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เปิดแสดงเทศกาลงานเทียนและเทศกาลดนตรีในช่วงฤดูหนาว

    ๓.หากมีโอกาสเดินทางไปจังหวัดนครปฐม แนะนำว่าให้ลองไปเที่ยวที่ "ตลาดน้ำดอนหวาย" แล้วจะประทับใจ

    ๔.คนที่ชอบอาหารไทยรสชาติจัดจ้าน ต้องบอกเลยว่าไม่ผิดหวังกับร้านอาหารที่อำเภอจอมบึง  จังหวัดราชบุรีแห่งนี้แน่นอน


๗.ข้อใดเป็นการพูดแสดงความคิดเห็น

    ๑.สภานักเรียนอภิปรายเรื่องวัยรุ่นกับยาเสพติด

    ๒.พระสงฆ์เทศน์เรื่องมหาชาติในเทศกาลเข้าพรรษา

    ๓.ครูสอนวิชาภาษาไทยให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓

    ๔.พิธีกรแนะนำวิทยากรที่เชิญมาบรรยายเรื่องวัยรุ่นกับยาเสพติด


๘.ข้อความตอนใดเป็นข้อความแสดงข้อคิดเห็น

    ๑.นกเงือกมีบทบาทช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ในป่า

    ๒.พวกมันจะบินครอบคลุมและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่ากว้างมาก

    ๓.ทำให้ป่าเกิดความสมดุลจากการกระจายเมล็ดพันธุ์ผ่านมูลนก

    ๔.หากอนุรักษ์นกเงือกไว้ก็น่าจะสามารถอนุรักษ์และสร้างสมดุลพืชพรรณในป่าได้อีกมาก


๙. ข้อใดเป็นข้อความแสดงความคิดเห็น

    ๑. นักร้อยบางคนเติบโตที่ต่างประเทศจึงดูเหมือนพูดภาษาไทยไม่ชัด

    ๒. นักบินทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเป็นประจำ

    ๓. นักกีฬาฝึกฝนร่างกายให้พร้อมแข่งขันอยู่เสมอ

    ๔. นักข่าวเป็นอาชีพที่ใช้ทักษะการสื่อสาร


๑๐. ข้อใดเป็นข้อความแสดงข้อเท็จจริง

    ๑. ผู้ออกแบบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากการสู้รบของทหารกล้าในเหตุการณ์กรณีพิพาทอินโดจีนกับฝรั่งเศส

    ๒. คนไทยควรระลึกถึงความกล้าหาญของทหารที่ได้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารชาติสัมพันธมิตรจนสงครามโลกครั้งที่ ๑ สงบ

    ๓. ดอกป๊อบปี้กลายเป็นดอกไม้อนุสรณ์แห่งวีรกรรมของทหารผ่านศึก  นับว่าเป็นสิ่งเตือนใจให้เห็นถึงเลือดสีแดงของทหารที่เสียสละเพื่อชาติ

    ๔. อนุสาวรีย์ทหารอาสาที่ตั้งอยู่กึ่งกลางสนามรูปสามเหลี่ยม ตรงมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของท้องสนามหลวง  ตรงข้ามโรงละครแห่งชาติ


เฉลยจ้า

๑. ตอบข้อ ๑ เพราะข้อ ๒ ๓ ๔ เป็นการแสดงความคิดความรู้สึกของผู้เขียนเอง

๒. ตอบข้อ ๓ เพราะเป็นข้อความที่แสดงความรู้สึกของผู้เขียน สังเกตจากคำว่า "อย่างมีความสุข"

๓. ตอบข้อ ๓ เพราะเป็นการแสดงความคิดของผู้เขียนและมีเปรียบเทียบ สังเกตจากข้อความ "ผู้คนจึงน่าจะสะดวกสบายมากขึ้น "

๔. ตอบข้อ ๒ เพราะเป็นการคาดคะเน  สังเกตจากข้อความ "มิจฉาชีพก็อาจนำข้อมูลของเราไปใช้ได้"

๕. ตอบข้อ ๓ เพราะคำว่าตาบอดในที่นี้ หมายถึง การมองมองข้ามข้อบกพร่องบางอย่างของคน ๆ นั้นไป

๖. ตอบข้อ ๒ เพราะข้อ ๑  ๓  ๔ เป็นข้อคิดเห็น ซึ่งมีหลักสังเกต ดังนี้

    ข้อ ๑ สังเกตจากคำว่า ดีที่สุดในโลก  (เป็นการเปรียบเทียบ และแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน)

    ข้อ ๓ สังเกตจากคำว่า แล้วจะประทับใจ  (เป็นความรู้สึกส่วนตัวของผู้เขียน)

    ข้อ ๔ สังเกตจากคำว่า ไม่ผิดหวัง  (เป็นการคาดคะเน และความรู้สึกส่วนตัวของผู้เขียน)

๗.ตอบข้อ ๑ เพราะการอภิปราย เป็นการร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่ง

๘.ตอบข้อ ๔  เพราะมีคำว่า  หาก  ซึ่งเป็นการคาดหวัง   และคำว่า   น่าจะ  ซึ่งเป็นการคาดคะเน

๙. ตอบข้อ ๑ เพราะดูจากคำว่า   "จึงดูเหมือน....."  เป็นการคาดคะเน

๑๐. ตอบข้อ  ๔   เพราะ ข้อ ๑  มีคำสังเกตว่าเป็นข้อคิดเห็น ที่เป็นการคาดคะเน   คือคำว่า "น่าจะ"          ข้อ ๒  มีคำสังเกตว่าเป็นข้อคิดเห็น ที่เป็นการแนะนำ   คือคำว่า "ควร"     ข้อ  ๓  มีคำสังเกตว่าเป็นข้อคิดเห็น คือคำว่า "นับว่า"   


วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข้อสอบคำสมาส

         หากเราพูดถึงภาษาบาลีสันสกฤตกันแล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งคำที่ต้องพูดถึงนั่นคือ  คำสมาส นั่นเอง

"คำสมาส"  เป็นคำที่เกิดจากการสร้างคำของภาษาบาลีและสันสกฤต เท่านั้น โดยมีรูปแบบดังนี้

๑. คำบาลี + คำบาลี                        ๒. คำบาลี + คำสันสกฤต        

๓. คำสันสกฤต + คำสันสกฤต         ๔. คำสันสกฤต + คำสันสกฤต

    หากคำบาลีหรือสันสกฤตรวมกับคำอื่น  คำนั้นก็จะเป็นคำประสม  ไม่ใช่คำสมาส 

และมักนำคำที่มีความหมายหลักไว้ข้างหลัง และนำคำที่มีความหมายรองไว้ด้านหน้า    

ดังนั้น เราจึงแปลความหมายของคำสมาส จากคำหลังมาหาคำหน้า  เช่น

วีร   (ความกล้าหาญ) + บุรุษ  (ผู้ชาย)  สมาสเป็นคำว่า วีรบุรุษ  หมายถึง  ผู้ชายที่กล้าหาญ

    คำสมาส แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ คำสมาสแบบธรรมดา และคำสมาสแบบมีสนธิ

    หลักสังเกตคำสมาส

    ๑. คำสมาสแบบธรรมดา จะเป็นการนำคำบาลีสันสกฤตมาเรียงติดกัน โดยไม่มีการเชื่อมเสียง

ระหว่างคำหน้าและคำหลัง  แต่จะคงเสียงสระของพยางค์หน้าเอาไว้   จึงนิยมจำว่า  สมาส  =  ชน   เช่น  

ราช + โอรส  ได้คำว่า   ราชโอรส   หมายถึง  บุตรชายของพระราชา

    ๒. คำสมาสแบบมีสนธิ  เป็นการนำคำบาลีสันสกฤตสองคำมาเรียงกัน โดยมีการเชื่อมเสียงระหว่าง

คำหน้าและคำหลัง  โดยมีการแปลงเสียงสระของพยางค์หน้าเชื่อมกับพยางค์แรกของคำหลัง  การสมาส

ลักษณะนี้เรียกว่า การสนธิ     จึงนิยมจำว่า  สนธิ = เชื่อม     เพราะเมื่อแยกคำออกแล้ว จะไม่ได้คำชัดเจน

เหมือนคำสมาสแบบธรรมดา   แต่จะได้เป็นคำแปลก ๆ   เช่น

มหัศจรรย์  มาจากคำว่า   มหา + อัศจรรย์   หมายถึง  ความแปลกประหลาดมาก, น่าทึ่งมาก, ว้าว

มหัศจรรย์   ไม่ใช่แยกแล้ว ได้คำว่า  มหัศ + จรรย์  นะจ๊ะ

จุลินทรีย์  มาจากคำว่า  จุล + อินทรีย์   หมายถึง  สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีทั้งเซลล์เดียวและหลายเซลล์

จุลินทรีย์  ไม่ใช่แยกแล้ว ได้คำว่า จุลิน + ทรีย์  นะจ๊ะ

    คำสมาสแบบมีสนธิ  แบ่งได้ ๓ ประเภทย่อย ๆ คือ  สระสนธิ    พยัญชนะสนธิ  และนิคหิตสนธิ 

 ดังนี้

    ๑. สระสนธิ  เป็น การเชื่อมคำโดยท้ายคำหน้าและต้นคำหลังเป็นสระ   เช่น

            โภชนอาการ    ได้คำว่า   โภชนาการ

(ทริกง่าย ๆ  : การเชื่อมคำแบบสระสนธิ  ให้ตัด  อ  ของคำหลังออก แล้วลากคำข้างหน้ามาเชื่อมได้เลย)


    ๒. พยัญชนะสนธิ   เป็นการเชื่อมคำ เมื่อท้ายคำหน้าและต้นคำหลังเป็นพยัญชนะ  เช่น

            รหั + าน     ได้คำว่า   รโหฐาน

( ทริกง่าย ๆ : เปลี่ยน  ส  ของคำหน้าเป็น  สระโอ  หรือ  ร    เช่น

        นิส + ทุกข์    ให้เปลี่ยน ส เป็น  ร    แล้วเชื่อมคำใส่กันได้คำว่า   นิรทุกข์

        มนส +  ภาพ   ให้เปลี่ยน   ส   เป็น   โ   แล้วเชื่อมคำใส่กันได้คำว่า  มโนภาพ)   

   

    ๓. นิคหิตสนธิ  หรือ นฤคหิตสนธิ   เป็น การเชื่อมคำที่มี ๓ แบบย่อย ๆ ดังนี้

        ๓.๑   เมื่อคำหน้าเป็น นิคหิต สนธิกับสระ  ให้แปลงนิคหิต เป็น  "ม"   เช่น

                สํ +  อาคม    แปลงนิคหิตเป็น  ม  ได้คำว่า   สม + อาคม  ได้คำว่า   สมาคม


        ๓.๒  เมื่อคำหน้าเป็น  นิคหิต  สนธิกับพยัญชนะวรรค  ให้แปลงนิคหิตเป็นพยัญชนะ

ตัวสุดท้ายของวรรคนั้น   ดังนี้   

                                วรรค  ก    ได้แก่  ก   ข   ค   ฆ     

                                วรรค  จ     ได้แก่  จ   ฉ   ช  ฌ 

                                วรรค  ฏ     ได้แก่   ฏ  ฐ  ฑ  ฒ 

                                วรรค  ต     ได้แก่   ต   ถ   ท   ธ 

                                วรรค  ป      ได้แก่   ป   ผ   พ  ภ 

เช่น    สํ + คีต  แปลงนิคหิตเป็น  ง  เพราะ  ค  อยู่ในวรรค  ก   ได้คำว่า   สังคีต    

          สํ +  ผัส  แปลงนิคหิตเป็น    เพราะ   ผ  อยู่ในวรรค  ป   ได้คำว่า   สัมผัส

         สํ + ฐาน  แปลงนิคหิตเป็น  ณ  เพราะ  ฐ   อยู่ในวรรค   ฏ   ได้คำว่า   สัณฐาน


        ๓.๓  เมื่อคำหน้าเป็น  นิคหิต  สนธิกับพยัญชนะเศษวรรค  ให้แปลง นิคหิต เป็น  "ง"   เช่น

            สํ + สรรค์   แปลงนิคหิตเป็น  ง   ได้คำว่า   สังสรรค์

            สํ + เวช      แปลงนิคหิตเป็น   ง   ได้คำว่า    สังเวช

                

           คำสมาสนี้ค่อนข้างจะยาก  แต่ถ้าเรารู้หลักการสังเกต และฝึกเชื่อมคำบ่อย ๆ เราก็จะสังเกตลักษณะ

ของคำนั้น ได้ชัดเจนขึ้น  

            เมื่อเรารู้หลักการสังเกตคำสมาสกันบ้างแล้ว  เรามาลองทำข้อสอบเรื่อง คำสมาส กันดูนะคะ  

 หากพร้อมแล้ว  ลงมือทำเลยจ้า


๑. ข้อใดมีคำสมาส  

    ๑. ดินแดนที่เป็นประเทศไทยทุกวันนี้ มีผู้คนอยู่อาศัยมานานนับหมื่น ๆ ปี

    ๒. ดังหลักฐานสำคัญ คือ โครงกระดูกและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่พบในหลุมฝังศพ

    ๓. ผู้คนดังกล่าวได้สร้างสมความเจริญและพัฒนาต่อเนื่องจากยุคหินสู่ยุคโลหะอยู่รวมกันเป็นชุมชน

    ๔. ครั้นเมื่อถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๑  ก็เริ่มมีการก่อตั้งเป็นแว่นแคว้นและเริ่มมีกษัตริย์เป็นผู้ปกครอง


๒. ข้อใดไม่มีคำสมาส 

    ๑. บทความบางเรื่องมีแผนภูมิประกอบ

    ๒. ทหารที่สละชีพเพื่อชาติได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ

    ๓. คณะนาฏศิลป์ไทยไปแสดงที่ต่างประเทศ

    ๔. หนังสือที่มีอายุครบ ๕๐ ปีแล้วไม่มีค่าลิขสิทธิ์


๓. ข้อใดมีคำสมาสที่มีการสนธิ

    ๑. ฝูงวัวควายผ้ายลาทิวากาล

    ๒. วัฒนธรรมประจำถิ่นนี้น่าศึกษา

    ๓. ธรรมาธรรมสงครามมีคติสอนใจ

    ๔. เมตตาธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนโลก


๔. ข้อใดไม่มีคำสมาส

    ๑. มยุรฉัตรชุมสายพรายศรี   พัดโบกพัชนี

    ๒. ไพร่ฟ้าประชาชี        ชาวบุรีก็ปรีดา

    ๓. ผาสุกรุกขมูล         พูนสวัสดิ์สถาวร

    ๔. เร่งพลโยธาพานรินทร์    เร่งรัดหัสดิน


๕. ข้อความ  ๒  ข้อใดมีคำสมาสที่มีการสนธิ   

    ๑. คนรักษาคำสัตย์นั้น  แม้ตัวจะตายไป   โลกก็ยังยกย่องมิรู้ลืม

    ๒. พึงอ่อนน้อมต่อผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนด้วย  พึงคบหากับผู้ที่เต็มใจจะคบหาสมาคมด้วย

    ๓. สติกับปัญญาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากในการทำงานทุกอย่างและต้องให้มีคู่กันไป

    ๔. วางได้บ้าง ก็จะมีสุขได้บ้าง  วางได้หมด ก็จะเป็นสุขได้ทั้งหมด นี่แหละคือสัจธรรมแหละลูกเอ๋ย

    ๕. ความใฝ่ฝันนั้นเป็นการจุดประกายจินตนาการและเป็นแรงกระตุ้นให้คนมีมานะทำฝันให้เป็นจริง


๖. คำประพันธ์ ๒ ข้อใดมีคำสมาส

    ๑.ควรไทยเราช่วยบำรุงวิชาช่าง            เครื่องสำอางแบบไทยสโมสร

    ๒.ช่วยบำรุงช่างไทยให้ถาวร                 อย่าให้หย่อนกว่าเขาเราจะอาย

    ๓.แม้พวกเราชาวไทยตั้งใจช่วย            เอออำนวยช่างไทยให้ทำของ

    ๔.อันการใดมีระเบียบและเรียบร้อย        มีร่องรอยเจริญไกลไปภายหน้า

    ๕.สมเป็นเมืองใหญ่โตมโหฬาร             พอไม่อายเพื่อนบ้านจึ่งจะดี


เฉลยข้อสอบ

๑. ตอบข้อ ๔  เพราะมีคำสมาสคือ คำว่า "พุทธศตวรรษ"  มาจากคำว่า พุทธ + ศตวรรษ


๒. ตอบข้อ  ๑   เพราะ ข้อ  ๒  มีคำสมาส คือคำว่า  วีรบุรุษ  มาจากคำว่า  วีร + บุรุษ

                                   ข้อ ๓  มีคำสมาส คือคำว่า  นาฏศิลป์  มาจากคำว่า นาฏ + ศิลป์

                                   ข้อ ๔  มีคำสมาส คือคำว่า  ลิขสิทธิ์  มาจากคำว่า  ลิข + สิทธิ์


๓. ตอบข้อ ๓  มีคำสมาสที่มีการสนธิ คือคำว่า   ธรรมาธรรม   มาจากคำว่า  ธรรม + อธรรม     

                        ส่วนข้อ  ๑  มีคำสมาส คือคำว่า ทิวากาล  มาจากคำว่า  ทิวา + กาล

                        ส่วนข้อ  ๒  มีคำสมาส คือคำว่า  วัฒนธรรม   มาจากคำว่า   วัฒน  +  ธรรม

                        ส่วนข้อ  ๓  มีคำสมาส  คือคำว่า  เมตตาธรรม  มาจากคำว่า   เมตตา + ธรรม


๔. ตอบข้อ  ๒   เพราะข้อ ๑  มีคำว่า   มยุรฉัตร  มาจากคำว่า  มยุร + ฉัตร  (สมาสแบบธรรมดา)

                                   ข้อ ๓  มีคำว่า   รุกขมูล    มาจากคำว่า   รุกข + มูล  (สมาสแบบธรรมดา)

                                   ข้อ  ๔ มีคำว่า   พานรินทร์   มาจากคำว่า  พาน + อรินทร์   (สมาสแบบสนธิ)

                                            และคำว่า  หัสดิน    มาจากคำว่า   หัสดี + อินทร์  (สมาสแบบสนธิ)

                           

 ๕. ตอบข้อ  ๒  กับ ข้อ ๕   มีคำสมาสที่มีการสนธิ  ดังนี้

                    ข้อ  ๒   มีคำว่า  สมาคม   มาจากคำว่า   สํ + อาคม

                    ข้อ  ๕   มีคำว่า  จินตนาการ   มาจากคำว่า    จิตน + อาการ

๖. ตอบข้อ ๑ กับข้อ ๕  ดังนี้

                    ข้อ ๑ มีคำสมาสแบบสนธิ (นฤคหิตสนธิ)คือคำว่า  สโมสร มาจากคำว่า สํ+โอสร    ได้คำว่า สโมสร

                   ข้อ ๕ มีคำสมาสแบบสนธิ (สระสนธิ) คือคำว่า มโหฬาร  มาจากคำว่า มหา+โอฬาร  ได้คำว่า มโหฬาร 




    พักจิบชาอัญชัน+เกสรบัวสีสวย ๆ กันสักนิดจ้า...  

...พบกันคราวหน้านะจ๊ะ....



วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2564

การแต่งองค์ทรงเครื่องในเรื่องอิเหนา ตอนที่ ๑

     ตัวละครในวรรณคดีหลาย ๆ เรื่อง มักสวมใส่เครื่องทรงที่สวยงาม ทำให้ผู้อ่านจินตนาการภาพตัวละครได้ชัดเจนและเห็นความงามของตัวละครมากขึ้น

    สำหรับเรื่อง อิเหนา บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑  จะมีบทที่ตัวละครอาบน้ำ  (สรงน้ำ) แต่งตัวในโอกาสต่าง ๆ ค่อนข้างมาก  เราจะเห็นว่าเครื่องแต่งกายของตัวละครแต่ละตัวเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง     มาดูการแต่งองค์ทรงเครื่องของตัวละครในเรื่องอิเหนากันเลยค่ะ

        ๑. อิเหนา ตอน เปลี่ยนเครื่องทรงเพื่อเตรียมเดินทางจากเมืองกุเรปัน 

ไปเมืองหมันยา

        "    เมื่อนั้น                                    ระเด่นมนตรีโอรสา

ครั้นรุ่งรางสร่างแสงสุริยา                    เสด็จมาสระสรงสรรพางค์ "

        "    ลูบไล้สุคนธาอ่าองค์                น้ำมันจันทน์บรรจงทรงพระสาง

สอดใส่สนับเพลาพลาง                        ทรงภูษาแย่งอย่างลายกระบวน

ฉลององค์โหมดม่วงร่วงระยับ                อบอุหรับจับกลิ่นหอมหวน

เจียระบาดตาดทองแล่งล้วน                 เข็มขัดคาดค่าควรพระนคร

กรองศอสังเวียนวิเชียรช่วง                   ทับทรวงสังวาลห้อยสร้อยอ่อน

ตาบกุดั่นประดับซับซ้อน                        ทองกรเก้าคู่ชมพูนุท

ธำมรงค์เพชรแพรวแวววับ                    กรรเจียกปรับรับทรงมงกุฎ

เหน็บกริชฤทธิรอนสำหรับยุทธ์            งามดั่งเทพบุตรเสด็จจร ฯ   "


๒. อิเหนา  ตอน  เปลี่ยนเครื่องทรงเพื่อเตรียมเดินทางจากป่าเข้าไปในเมืองหมันยาเพื่อเข้าเฝ้าเจ้าเมืองหมันยา

"    เมื่อนั้น                                            ระเด่นมนตรีสูงส่ง

เสด็จจากแท่นสุวรรณบรรจง                มาสระสรงวารินกลิ่นเกลา ฯ"

"    ทรงสุคนธ์ปนทองชมพูนุท             นวลละอองผ่องผุดดังหล่อเหลา

พระฉายตั้งคันฉ่องส่องเงา                   สอดใส่สนับเพลาเพราผจง

ทรงภูษายกแย่งอย่างนอก                    พื้นม่วงดวงดอกตันหยง

โหมดเทศริ้วทองฉลององค์                  กระสันทรงเจียระบาดคาดทับ

ปั้นเหน่งเพชรลงยาราชาวดี                  ทับทรวงดวงมณีสีสลับ

เฟื่องห้อยสร้อยสังวาลพานพับ            ทองกรแก้วประดับดวงจินดา

สอดใส่ธำมรงค์เรือนครุฑ                     ทรงมงกุฎห้อยพวงบุปผา

เหน็บกริชฤทธิไกรแล้วไคลคลา           เสด็จมาขึ้นทรงสินธพ ฯ  "


๓. นางประไหมสุหรีเมืองหมันหยาชวนนางจินตะหราวาตีอาบน้ำและเปลี่ยนเครื่องทรงเพื่อไปต้อนรับอิเหนา

"    เมื่อนั้น                                            โฉมยงองค์ประไหมสุหรี

จึงชวนจินตะหราวาตี                            เข้าที่สรงสนานสำราญกาย ฯ"

"    สองกษ้ตริย์ขัดสีฉวีวรรณ                นางกำนัลตั้งสุคนธ์คอยถวาย

ทรงอุหรับจับกลิ่นอบอาย                      น้ำกุหลาบละลายกรายกรีดนิ้ว

กวดเกล้าเปลาปลายพระฉายส่อง         ผัดพักตร์นวลละอองผ่องผิว

ทรงภูษายกแย่งแพลงพลิ้ว                    ห่มริ้วทองทับซับใน

สร้อยสะอิ้งสังวาลบานพับ                      ตามประดับมรกตสดใส

ทองกรแก้วมณีเจียระไน                        สอดใส่เนาวรัตน์ธำมรงค์

ทรงมงกุฎสำหรับพระธิดา                      ห้อยอุบะบุหงาตันหยง

พรั่งพร้อมสุรางค์นางอนงค์                    สององค์เสด็จไคลคลา ฯ "


๔. เจ้าเมืองหมันหยาสรงน้ำและเปลี่ยนเครื่องทรงเตรียมร่วมพิธีเชิญพระศพจากในปราสาทไปยังพระเมรุ

"    เมื่อนั้น                                               ระตูผู้ผ่านหมันหยา

ครั้นแสงทองส่องสว่างกระจ่างฟ้า            เสด็จมาสรงชลฉันพลัน ฯ"

"    ทรงสุคนธ์รวยรินกลิ่นเกลา                 สอดใส่สนับเพลาลายกระสัน

ทรงภูษาพื้นขาวเขียวสุวรรณ                    กรวยเชิงสามชั้นบรรจงโจง

ฉลององค์โหมดเทศทองอร่าม                อินทร์ธนูดูงามอ่าโถง

เจียระบาดตาดเงินเงาโง้ง                        ปั้นเหน่งลายปรุโปร่งประดับพลอย

กรองศอสังเวียนวิเชียรช่วง                      ตาบทิศทับทรวงห่วงห้อย

ทองกรจำหลักเป็นรักร้อย                        ธำมรงค์เพชรพลอยร่วงรุ้ง

กรรเจียกแก้วแพรวพรายทั้งซ้ายขวา        ทรงชฎาห้ายอดสอดสะดุ้ง

ห้อยอุบะตันหยงส่งกลิ่นฟุ้ง                        ครั้นรุ่งก็เสด็จจรจรัล ฯ"


๕. อิเหนาเตรียมตัวเดินทางจากเมืองหมันหยา

"    เมื่อนั้น                                               ระเด่นมนตรีเฉิดฉัน

ครั้นจะใกล้ไขสีรวีวรรณ                           ทรงธรรม์บรรทมตื่นฟื้นองค์

เสียงไก่กระชั้นขันขาน                            แซ่ประสานสำเนียงเสียงบุหรง

เสด็จออกจากแท่นสุวรรณบรรจง             มาชำระสระสรงสินธู ฯ "

"    น้ำใสไขฝักปทุมทอง                          ผินผันหันขนองเข้ารองสู้

ทรงสุคนธ์ปนสุวรรณกำภู                         หอมระรื่นชื่นชูกลิ่นชะมด

สอดใส่สนับเพลาเนาหน่วง                       โขมพัตถ์พื้นม่วงก้านขด

ฉลององค์อินทร์ธนูสะบัดคต                     ดุมประดับมรกตรจนา

เจียระบาดตาดสุวรรณวาววับ                    กรองศอซ้อนสลับทับอังสา

ตาบทิศทับทรวงดวงจินดา                        พาหาพาหุรัดทองกร

ธำมรงค์ลงยาประดับเพชร                          แต่ละเม็ดยอดใหญ่เท่าบัวอ่อน

ทรงมหามงกุฎกรรเจียกจอน                        กรายกรกุมกริชจรลี ฯ"


๖. อิเหนาย้อนกลับไปหานางจินตะหราวาตีที่เมืองหมันหยา

"    ครั้นประโคมฆ้องย่ำสามยามเศษ            ภูวเรศยินดีจะมีไหน

เสด็จจากห้องทองทันใด                              คลาไคลไปสรงชลธาร ฯ"

"    ไขสุหร่ายวารินกลิ่นเกลี้ยง                      สถิตนั่งเหนือเตียงสรงสนาน

ทรงสุคนธ์ปนทองรองพาน                            กลิ่นสุมาลย์ตลบอบองค์

สอดใส่สนับเพลาพื้นตาด                              ปักรูปสีหราชเหมหงส์

ภูษายกแย่งครุฑภุชงค์                                  ฉลององค์อินทร์ธนูงามงอน

เจียระบาดตาดสุวรรณพรรณราย                     คาดปั้นเหน่งเพชรพรายสายสร้อยอ่อน

ทับทรวงดวงกุดั่นดอกซ้อน                             ทองกรแก้วมณีเจียระไน

ธำมรงค์ค่าเมืองเรืองระยับ                                มงกุฎเก็จเพชรประดับดอกไม้ไหว

เหน็บกริชเทวาแล้วคลาไคล                            มาทรงมโนมัยในเที่ยงคืน ฯ"


๗. อิเหนาปลอมตัวเป็นโจรป่าชื่อปันหยี แต่งตัวเตรียมออกรบกับระตูบุศสิหนา

"    เมื่อนั้น                                                    มิสาระปันหยีสุกาหรา

จึ่งสระสรงทรงเครื่องมุรธา                            ตามตำรารณรงค์ยงยุทธ์ ฯ"

"    บรรจงทรงสอดสนับเพลา                        ภูษานุ่งหน่วงเนาไม่เลื่อนหลุด

ฉลององค์เกราะสุวรรณกันอาวุธ                    เจียระบาดผาดผุดพรรณราย

ตาบทิศทับทรวงดวงกุดั่น                               คาดเข็มขัดรัดมั่นกระสันสาย

สังวาลประดับทับทิมพราย                             ทองกรจำหลักลายลงยา

ธำมรงค์ค่าเมืองเรืองระยับ                              ตาดพับพันโพกเกศา

แต่งเป็นเช่นชาวอรัญวา                                  กุมกริชฤทธาสำหรับมือ ฯ"


๘. ระตูบุศสิหนา แต่งตัวเตรียมต่อสู้กับโจรป่าปันหยี

"    เมื่อนั้น                                                    ระตูบุศสิหนาเป็นใหญ่

เร่งรัดจัดพหลพลไกร                                    นายไพร่พร้อมถ้วนกระบวนทัพ ฯ"

"    จึงเข้าที่ชำระสระสนาน                            สุคนธ์ธารกลิ่นกลบอบอุหรับ

พระฉายตั้งเตียงทองรองรับ                          สอดใส่สนับเพลาพลัน

ภูษายกแย่งครุฑภุชงค์                                  จัดกลีบจีบประจงทรงกระสัน

ฉลององค์ทรงใส่เกราะสุวรรณ                      สำหรับกันศัสตราอาวุธ

ห้อยหน้าเจียระบาดคาดทับ                          ปั้นเหน่งสายบานพับประดับบุษย์

ใส่สังวาลรณรงค์ยงยุทธ์                                ทองกรชมพูนุทรจนา

สอดทรงธำมรงค์เรือนสุบรรณ                        มงกุฎกรรเจียกจอนซ้ายขวา

เหน็บกริชฤทธิไกรไคลคลา                            เสด็จมาห้องสุวรรณเทวี ฯ "



วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ฝันแบบนี้ มีลูกแบบไหน (กำเนิดตัวละคร)

             ก่อนที่ตัวละครในวรรณคดีหลาย ๆ เรื่องจะถือกำเนิดขึ้นนั้น   บิดามารดาของตัวละครนั้น ๆ มักจะฝันก่อนเสมอ ๆ และมักจะให้โหรทำนายความฝันว่าตนเองจะได้บุตรธิดาที่มีลักษณะอย่างไร

            วันนี้เรามาดูตัวอย่างความฝันของบิดามารดาของตัวละครในวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ ว่า พวกเขาเหล่านั้นฝันว่าอย่างไรบ้าง และมีการทำนายฝันว่าอย่างไรบ้าง   มาดูตัวอย่างความฝันกันได้เลยค่ะ

ความฝันของนางเทพทอง  (กำเนิดขุนช้าง)  

จากบทเสภาขุนช้างขุนแผน : สุนทรภู่

    "  ฝ่ายนางเทพทองนั้นนอนหลับ                 พลิกกลับก็เพ้อละเมอฝัน                      

ว่าช้างพลายตายกลิ้งตลิ่งชัน                          พองขึ้นหัวนั้นเน่าโขลงไป                      

ยังมีนกตะกรุมหัวเหม่                                     บินเตร่เร่มาแต่ป่าใหญ่                            

อ้าปากคาบช้างแล้ววางไป                            เข้าในหอกลางที่นางนอน                      

ในฝันนั้นว่านางเรียกนก                                 เชิญเจ้าขรัวหัวถกมานี่ก่อน                

นางคว้าได้ตัวเจ้าหัวกล้อน                             กอดนกกับช้างนอนสบายใจ 

                                               ฯลฯ 

    ขุนศรีวิชัยจึงทำนายฝัน                             อ้อเจ้าจะมีครรภ์หาเป็นไรไม่                

ลูกของเราจะเป็นชายทำนายไว้                   เหมือนนกตะกรุมตัวใหญ่คาบช้างมา     

จะบริบูรณ์พูนสวัสดิ์แล้วเจ้าพี่                        แต่ลูกของเรานี้จะขายหน้า                  

หัวล้านแต่กำเนิดเกิดมา                                 จะมั่งมีเงินตรากว่าห้าเกวียน ..."


ความฝันของนางทองประศรี  (กำเนิดขุนแผน)  

จากบทเสภาขุนช้างขุนแผน : สุนทรภู่

"       จะมากล่าวถึงนางทองประศรี         นอนด้วยสามีในเรือนใหญ่                 

นิมิตฝันนั้นว่าท้าวสหัสนัยน์                     ถือแหวนเพชรเม็ดใหญ่เหาะดั้นมา       

ครั้นถึงจึงยื่นแหวนนั้นให้                         นางรับแหวนไว้ด้วยหรรษา                   

แสงเพชรส่องวาบปราบเข้าตา                 ตื่นผวาคว้าทั่วปลุกผัวพลัน ...

                                         ฯลฯ

        ฝันว่าได้ธำรงค์วงวิเศษ                     ของโกสีย์ตรีเนตรอันเฉิดฉาย       

เพชรรัตน์อร่ามงามเพริศพราย                 บรรยายว่าเป็นสิ่งมีมงคล                     

จะมีครรภ์ลูกนั้นจะเป็นชาย                       ดังทหารพระนารายณ์มาปฏิสนธิ์       

กล้าหาญการณรงค์คงทน                         ฤทธิรณปราบทั่วทั้งแดนไตร                 

ซึ่งว่าเพชรรัศมีสีกล้า                                 ภายหน้าจะได้เป็นทหารใหญ่                 

มียศศักดิ์เป็นพระยาข้าใช้                         ร่วมพระทัยทรงธรรม์พระพันปี ..."


ความฝันของนางศรีประจัน (กำเนิดนางพิมพิลาไลย )   

จากบทเสภาขุนช้างขุนแผน : สุนทรภู่

"       มาจะกล่าวถึงนางศรีประจัน             เที่ยงคืนนอนฝันในโคหา                       

ว่าพระพิศณุกรรม์เหาะดั้นฟ้า                 ถือแหวนประดับมาสวมนิ้วนาง           

แล้วก็กลับไปสถานพิมานมาศ                 แสนสนิทพิศวาสจนสว่าง                     

ตื่นลุกปลุกผัวยิ้มหัวพลาง                         ล้างหน้าแล้วพลันแก้ฝันไป ..."

                                                ฯลฯ

    จึงทำนายฝันไปมิได้ช้า                    ว่าเจ้าฝันนั้นหนาจะมีครรภ์                   

ได้แหวนประดับลูกจะเป็นหญิง             รูปร่างงามจริงตละแกล้งสรร             

ด้วยเป็นแหวนของพระพิศณุกรรม์         จะเป็นช่างใครนั้นไม่ทันเลย ..."


ความฝันของนางวันทอง  (กำเนิดพลายงาม)   

จากบทเสภาขุนช้างขุนแผน : สุนทรภู่

"       น้องฝันว่าได้เอื้อมถึงอากาศ         ประหลาดเด็ดสุริยาลงมาล่าง           

ถนอมชมอมชื่นแล้วกลืนพลาง             สว่างทั่วตัวน้องถนัดตา                         

แล้วยังมีชายหนึ่งนั้นสามารถถ             องอาจแคะควักเอาตาขวา                     

ทิ้งไปให้มืดทุกเวลา                              น้องนี้โศกมาอนาถใจ                      

ดวงตาควักไปไม่ได้คืน                          กลับเอาดวงอื่นมายื่นให้                     

มืดมัวชั่วช้ากว่าเก่าไป                              จะดีร้ายฉันใดช่วยบอกมา ..."

                                          ฯลฯ

"    ขุนแผนฟังฝันให้หวั่นจิต                  คิดเห็นทั้งคุณโทษเป็นหนักหนา       

ดวงใจเจ้าจะได้ซึ่งลูกยา                     เหมือนฝันว่าได้ชมพระอาทิตย์             

จะสิ้นความทุกข์ร้อนผ่อนวิโยค                ที่ร้อนโรคสิ่งไรจะไป่ปลิด                     

ลูกในครรภ์เจ้านั้นจะเรืองฤทธิ์             เป็นคู่คิดควรเราจะพึ่งพา                       

ที่ฝันว่าดวงตากระเด็นจาก                    จะลำบากมากมายไปภายหน้า             

ครั้นจะบอกออกอรรถให้ชัดมา             กลัวว่าวันทองจะหมองใจ..."


ความฝันของท้าวยศวิมล   (กำเนิดพระสังข์)   

จากบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง : พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

"       ฝันว่าอาทิตย์ฤทธิ์รงค์                ตกลงตรงพักตร์ข้างทักษิณ                

ดาวน้อยพลอยค้างอยู่กลางดิน            เราผินพักตร์ฉวยเอาด้วยพลัน              

มือซ้ายได้ดวงดารา                             มือขวาคว้าได้สุริย์ฉัน                          

แล้วหายไปแต่พระสุริยัน                      ต่อโศกศัลย์ร่ำไห้จึงได้คืน                    

สักสามยามหย่อนค่อนรุ่ง                     เราสะดุ้งคว้าหาผวาตื่น                      

ดีร้ายทายตามอย่ากล้ำกลืน                  ตาหมื่นโหราจงว่าไป "

                                        ฯลฯ

"     บัดนั้น                                          ยอดโหรหามีเสมอไม่                            

คิดคูณหารดูรู้แจ้งใจ                            ภูวไนยจะเกิดบุตรา                                

จึงทูลทายทำนายตามสุบิน                  ว่าพระปิ่นนางในฝ่ายขวา                      

จะทรงครรภ์พระราชบุตรา                  บุญญาธิการมากมี                                

แต่จะพลัดพรากไปจากวัง                  ภายหลังจึงจะคืนกรุงศรี                    

ดาราคือพระบุตรี                                   จะเกิดที่สนมอันควร                             

ฝันว่าพระทรงโศกา                              จะได้ชมลูกยาเกษมสรวล                   

ทายตามสุบินสิ้นกระบวน                     ถี่ถ้วนจงทราบพระบาทา "


ความฝันของนางประไหมสุหรีเมืองกุเรปัน (นางนิหลาอระตานารี)   (กำเนิดอิเหนา)   

จากกลอนบทละครเรื่องอิเหนา : พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

"   ราตรีเข้าที่พระบรรทม                    ด้วยบรมนรินทร์ปิ่นปักษ์                 

บังเกิดนิมิตฝันอัศจรรย์นัก                     ว่านงลักษณ์นั่งเล่นที่ชาลา                      

มีพระสุริยงทรงกลด                              ชักรถมาในเวหา                                  

แจ่มแจ้งแสงสว่างทั้งโลกา                  ตกลงตรงหน้านางรับไว้                      

ครั้นนิทราตื่นฟื้นองค์                             ให้หลากจิตพิศวงสงสัย                        

จึ่งทูลพระภัสดาทันใด                         โดยในนิมิตเยาวมาลย์ "

                                        ฯลฯ

"    บัดนั้น                                              ทั้งสี่โหราอัชฌาสัย                      

พิเคราะห์ดูเห็นแจ้งไม่แคลงใจ            ต่างทูลภูวไนยไปพลัน                          

อันพระสุบินนี้ดีนัก                                  จะได้โอรสรักเป็นแม่นมั่น                

อาจองทรงเดชดั่งสุริยัน                        ทุกนิเวศน์เขตขัณฑ์ไม่ต้านทาน            

จะเป็นที่ดับเข็ญให้เย็นยุค                    ราษฎรจะได้สุขเกษมศานต์                   

ซึ่งนิมิตยามจันทร์วันอังคาร                จวนเวลากาลอโณทัย                           

 สิ่งใดพระองค์ประสงค์นัก                  ตำราว่าจักพลันได้                                

แต่ในสองเดือนถ้าเคลื่อนไป               พระอย่าไว้ชีวิตโหรา  "


..........