วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ณ หาดทรายชายทะเลแห่งหนึ่ง (ชิต บุรทัต)

     วันนี้ไปค้นหนังสือเก่า ๆ ก็ไปเจอหนังสือเรียนภาษาไทย ม.๓  ที่เราเคยเรียนสมัยก่อน  แล้วเราชอบเรื่องนี้มาก ๆ เลย    "ณ หาดทรายชายทะเลแห่งหนึ่ง"  ผลงานของ นายชิต  บุรทัต    ซึ่งแต่งโดยใช้คำประพันธ์ประเภท อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑  ซึ่งฉันท์ชนิดนี้คล้ายกับกาพย์ยานี ๑๑  ต่างกันที่ อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑  มีบังคับ ครุ  ลหุ  เท่านั้น    ส่วนจำนวนคำในแต่ละวรรค จะมีเท่ากันกับกาพย์ยานี ๑๑ คือ วรรคหน้ามี ๕ คำ และวรรคหลัง มี ๖  คำ  

       บางคนอาจจะสงสัยว่า  ครุ  ลหุ  เป็นอย่างไร  มาดูกันค่ะ

       คำประพันธ์ประเภทฉันท์ทุกชนิด จะมีการบังคับคำ ครุ  และ  ลหุ  ซึ่งเป็นคำที่บอกลักษณะของเสียงคำหรือพยางค์  มีส่วนสำคัญมาก สำหรับการแต่งคำประพันธ์ประเภทฉันท์

       คำครุ  (คำ คะ-รุ) คือ  พยางค์ที่ออกเสียงหนัก   มีวิธีการสังเกต ดังนี้

            ๑. เป็นพยางค์ที่มีมาตราตัวสะกดในทุกมาตรา  (มาตราแม่  กก   กบ   กด   กน    กม   เกย   เกอว   และ แม่กง)

            ๒. เป็นพยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงยาวเท่านั้น  ไม่มีตัวสะกดก็ได้  เช่น  นาที   เวลา

            ๓. เป็นพยางค์ที่ประสมด้วย  อำ   ไอ   ใอ   เอา   เพราะสระเหล่านี้ออกเสียงเหมือนมีตัวสะกด คือ   อำ   (ออกเสียงเหมือนมี  ม  สะกด)      ไอ   ใอ   (ออกเสียงเหมือนมี  ย   สะกด)      เอา  (ออกเสียงเหมือนมี  ว   สะกด)  จึงนับเป็นคำครุเช่นกัน

        คำลหุ  (คำ ละ-หุ) คือ พยางค์ที่ออกเสียงเบา   มีวิธีการสังเกต  ดังนี้

            ๑. เป็นพยางค์ที่ไม่มีเสียงพยัญชนะสะกด

            ๒. เป็นพยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นเท่านั้น  เช่น  และ   ประ   ติ    ผิ  ศศิ

            ๓. เป็น พยัญชนะตัวเดียว  เช่น   บ   บ่    ก็    ณ    ธ   เพราะเป็นพยางค์ที่ออกเสียงสั้น และไม่มีเสียงพยัญชนะสะกด

    

            สำหรับเนื้อเรื่อง  กวีได้พรรณนาธรรมชาติชายทะเลยามเย็น และแสดงรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ เช่น ท้องฟ้า  แมกไม้   นก   พื้นน้ำ  คลื่นลม  ฯลฯ  ด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ  ชวนให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการตามไปด้วย  

            นอกจากนี้กวียังได้ฝากให้ชาวไทยได้ร่วมกันดูแลทะเลอันเป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่งของเมืองไทยเพราะเป็นแหล่งเลี้ยงชีวิตคนไทยและผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ สมควรที่ชาวไทยจะพิทักษ์รักษาไว้ชั่วนิรันดร์

          มาลองอ่านกันนะคะ


ณ  หาดทรายชายทะเลแห่งหนึ่ง

ผู้แต่ง  :  นายชิต    บุรทัต

ลักษณะคำประพันธ์ :  อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑


            สายัณห์ตะวันยาม                   ขณะข้ามทิฆัมพร

เข้าภาคนภาตอน                                ทิศะตกก็รำไร

            รอนรอนและอ่อนแสง             นภะแดงสิแปลงไป

เป็นครามอร่ามใส                               สุภะสดพิสุทธ์สี

            เรื่อเรื่อ ณ เมื่อรัต-                   ติจะผลัดก็พลันมี

มืดมามิช้าที                                        ศศิธรจะจรแทน

            ริวริวระริ้วเรื่อย                        ระยะเฉื่อยฉะฉิวแสน

เย็นกายสบายแดน                             มนะด้วยระรวยลม

            ริกริกกระดิกทุก                      ทุมะรุกข์ระเริงรมย์

ใบก้านตระการชม                               พิศะช่อลออครัน

            ไรไรไสวร่อน                          จระว่อนวิหคพรรณ

เหนือพฤกษะไพรผัน                          มุขะเพื่อจะเมือรัง

            ครืนครืนคะครื้นครั่น                ชละลั่นสนั่นดัง

โดยทางทะเลฟัง                                 สรคลื่นคะเครงโครม

            ลิ่วลิ่วละลอกปราด                   ประทะหาดและสาดโซม    (ปะทะ เข้าใจว่ากวีต้องการเล่นเสียง ปร)

ซัดทอยทยอยโถม                               ทะลุฝั่งกระทั่งถึง

            แท้ธรรมชาติงาม                      พิศยามจะย่ำพึง

เพ่งภาพผิคำนึง                                    ละก็น่านิยมตาม

            ตูยืน  ณ  พื้นทราย                    เฉพาะชายทะเลงาม

ชมเพลินก็พลันความ                            ตริตระหนักประจักษ์มา

            เมื่อมองกะคลองเนตร               พิเคราะห์เขตอาณา

ของไทยสิไพศา-                                   ลยะรอบประกอบชล

            โน่นโน่นแน่ะยาวกว้าง               ณ  ระหว่างทะเลวน

น้ำเชี่ยวและเขียวกล                              กะจะดำแสดงสี

            นั่นนั่นแน่ะบอกบ่ง                      โป๊ะประมงประมาณมี

ดื่นดา  ณ  อาชี-                                      วะเพราะปลาแหละอาจิณ

            เรือใบคระไลคล่อง                      ละเลาะล่องชะลอสินธุ์

ไปมาและหากิน                                      กิจะเกี่ยวกะมัจฉา

            ใครใครผิไม่นึก                           คติลึกละเอียดมา

พบเข้าก็เปล่าตา                                    จะมิติดมิผิดผัน

            เห็นภาพทะเลแผน                     ดุจะแผ่นอุทกอัน

ปราศฝั่ง บ ใฝ่ฝัน                                    บ พิจารณาไกล

            เห็นภาพพณิชย์กรรม                  กลธรรมดาไป

ตามถิ่นและทางใคร                                จะถนัดสมรรถทำ

            หากใช้พินิจชอบ                         วิเคราะห์รอบจะครอบงำ

นึกถึงประเทศนำ                                     นยะแน่ว ณ  แนวหมาย

            โลกเราสิเข้ายุท-                         ธะมิหยุดมิหย่อนวาย

บุคคลและแคว้นหลาย                             ตะละล้วนจะป่วนหัน

            หาที่กระทำกิน                             และถวิลจะแย่งกัน

ทุกยุคและทุกวัน                                     ผิวิจารณ์จะตื่นตน

            ว่าอ้าผไทแผ่น                             ภพะแดนอุทกชล

ทั้งใหญ่และกว้างยล                                เฉพาะเนตรถนัดเห็น

            ของไทยนะ- ของไทย                  และก็ไทยยนะ-ไทยเป็น

เจ้าของและบำเพ็ญ                                  จะพิทักษ์จะรักษา

            ในถิ่นอุทกนั้น                                สิอนันตบรรดา

สินธนจะคณนา                                         บ มิสุดอนุสสรณ์

            แผ่นน้ำ ณ เบื้องหน้า                    อุปมากะอากร

เกิดเทิดสถาวร                                         ชิวะเรานิรันดร์แล

                        *************************



               


วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ข้อสอบ คำทับศัพท์ และ คำศัพท์บัญญัติ

        หากกล่าวถึง เรื่อง คำทับศัพท์  หลาย ๆ คนก็มักจะเห็น คำศัพท์บัญญัติ พ่วงมาด้วย   ดังนั้น วันนี้เรามาทำความรู้จักกับ สองคำนี้ ตามสไตล์ครูมยุรา เลยค่ะ

    คำทับศัพท์ คือ คำที่มีการถอดเสียงจากภาษาต่างประเทศมาเป็นตัวอักษรของไทย เพื่อให้อ่านออกเสียงให้ใกล้เคียงกับคำศัพท์เดิมมากที่สุด 

   เช่น  cake   เขียนว่า  เค้ก                      football     เขียนว่า   ฟุตบอล

   からおけ  [kara oke])   เขียนว่า  คาราโอเกะ    

    คำศัพท์บัญญัติ  คือ คำที่กำหนดขึ้นใช้แทนศัพท์ภาษาอังกฤษ เพื่อให้คนทั่วประเทศใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน  อาจใช้คำยืมจากภาษาบาลี  สันสกฤต ก็ได้ 

    คำศัพท์บัญญัติ อาจนำมาจากความหมายของคำศัพท์นั้น ๆ หรือ อาจสร้างขึ้นใหม่ก็ได้

 เช่น   สัมมนา   มาจากคำภาษาบาลี สมาสกัน คือ สํ (รวม) + มนา (ใจ)  = รวมใจ                       มาจากคำภาษาอังกฤษว่า seminar

เช่น สุขภาพ  เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า health

       ตลาดมืด  เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า  black   market

............................................................

        เราทราบหลักการสังเกตความแตกต่างของคำทับศัพท์ กับ คำศัพท์บัญญัติกันแล้ว มาลองทำข้อสอบที่รวบรวมมาจากข้อสอบโอเน็ตกันเลยนะคะ

ข้อสอบ คำทับศัพท์

๑.ข้อใดไม่จำเป็นต้องใช้คำทับศัพท์ (๙๑๒๕๖๐)

    ๑.คุณหมอให้กินแอสไพรินแก้ไข้

    ๒.เขาชอบสตรอเบอร์รีชีสเค้กมาก

    ๓.พืชใช้คลอโรฟิลล์ในการสังเคราะห์แสง

    ๔.ปัจจุบันนี้คนมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันมากขึ้น


๒..ข้อใดจำเป็นต้องใช้คำทับศัพท์  (๙๑๒๕๖๓)

    ๑.ไฮโซหนุ่มมีปัญหาเรื่องชู้สาวและทำร้ายดาราสาวคนสนิท

    ๒.นักวิทยาศาสตร์ค้นพบฟอสซิลยุคจูแรสซิกอายุหลายล้านปี

    ๓.นักท่องเที่ยวควรมีลิสต์รายการของใช้จำเป็นและแพลนการเดินทาง

    ๔.การระบาดของโรคปอดอักเสบทำให้งานปาร์ตี้หลายงานต้องยกเลิก

 

๓.ข้อใดจำเป็นต้องใช้คำทับศัพท์ (๙๑๒๕๖๒)

    ๑.กระแสเกมออนไลน์กำลังมาแรงและทำเงินได้มหาศาล

    ๒.การนำเสนอข้อมูลในสื่อต่าง ๆ ผู้ใช้สื่อจำเป็นต้องชัวร์ก่อนแชร์         

    ๓.พิธีกรรายการทีวีถูกปลดจากรายการเนื่องจากพูดจาไม่เหมาะสม

    ๔.เมื่อเราเดินทางไปต่างประเทศ จำเป็นต้องใช้พาสปอร์ตเพื่อแสดงตน

 

๔.ข้อความ ๒ ข้อใดไม่จำเป็นต้องใช้คำทับศัพท์  (๙๑๒๕๖๑)

    ๑.เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทสำคัญต่อชีวิต

    ๒.ธุรกิจเพื่อสุขภาพเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงในปีนี้

    ๓.อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ที่ใหญ่ที่สุด

    ๔.ลูกค้าส่วนใหญ่นิยมซื้อเสื้อผ้าที่มีสไตล์สวยหรูทันสมัย

    ๕.การเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลช่วยให้ประหยัดพื้นที่ได้


เรื่อง ศัพท์บัญญัติ

๑.ข้อใดมีศัพท์บัญญัติ (๙๑๒๕๖๒)

    ๑.นักเรียนในแถบเอเชียมีความเครียดจากการสอบแข่งขันมาก

    ๒.ข้อมูลสารสนเทศในยุคปัจจุบันช่วยให้ชีวิตของเราสะดวกสบาย

    ๓.ผู้ที่ต้องการจะไปเรียนต่อต่างประเทศต้องใช้ผลการสอบโทเฟล

    ๔.นักการเมืองมีแฟนคลับคอยให้กำลังใจไม่ต่างกับนักร้องนักแสดง

 

๒.ข้อความ ๒ ข้อใดมีทั้งคำทับศัพท์และคำศัพท์บัญญัติ  (๙๑๒๕๖๑)

    ๑.ตรีโกณมิติเป็นสาขาหนึ่งของวิชาคณิตศาสตร์

    ๒.ขยะพลาสติกมีส่วนทำลายสมดุลของระบบนิเวศ

    ๓.ตำรวจบุกค้นคลินิกศัลยกรรมความงามแห่งหนึ่ง

    ๔.กระทรวงศึกษาธิการจัดอภิปรายเรื่องปัญหาวัยรุ่น

    ๕.ครูทำวีดิทัศน์ประกอบการสอนวิชาประวัติศาสตร์

 

เฉลย  ข้อสอบเรื่อง คำทับศัพท์

๑.ข้อใดไม่จำเป็นต้องใช้คำทับศัพท์ (๙๑๒๕๖๐)

ตอบข้อ ๔  ปัจจุบันนี้คนมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันมากขึ้น

        คำว่า ไลฟ์สไตล์ สามารถใช้คำว่า รูปแบบการใช้ชีวิต  ส่วนข้ออื่น ๆ ไม่มีคำศัพท์บัญญัติใช้ จึงจำเป็นต้องใช้คำทับศัพท์


        ส่วนข้อ ๑  คุณหมอให้กินแอสไพรินแก้ไข้   คำว่า "แอสไพริน" ยังไม่มีศัพท์บัญญัติใช้

              ข้อ ๒.เขาชอบสตรอเบอร์รีชีสเค้กมาก   คำว่า "สตรอเบอร์รีชีสเค้ก" ยังไม่มีศัพท์บัญญัติใช้

              ข้อ ๓.พืชใช้คลอโรฟิลล์ในการสังเคราะห์แสง  คำว่า "คลอโรฟิลล์" ยังไม่มีศัพท์บัญญัติใช้


๒..ข้อใดจำเป็นต้องใช้คำทับศัพท์  (๙๑๒๕๖๓)

ตอบข้อ ๒   นักวิทยาศาสตร์ค้นพบฟอสซิลยุคจูแรสซิกอายุหลายล้านปี

        เพราะคำว่า จูแรสซิก  เป็นชื่อเรียกยุคหนึ่งทางธรณีของโลก  ยังไม่มีคำศัพท์บัญญัติใช้                        ส่วนคำว่า "ฟอสซิล"   มีศัพท์บัญญัติ คือ ซากดึกดำบรรพ์


    ส่วนข้อ ๑ ไฮโซหนุ่มมีปัญหาเรื่องชู้สาวและทำร้ายดาราสาวคนสนิท

                     คำว่า "ไฮโซ" มีศัพท์บัญญัติ คือ คนชั้นสูง  พวกผู้ดีมีตระกูล  สังคมชั้นสูง      

          ข้อ ๓.นักท่องเที่ยวควรมีลิสต์รายการของใช้จำเป็นและแพลนการเดินทาง

                     คำว่า "ลิสต์"  มีศัพท์บัญญัติ คือ บัญชี  รายชื่อ  รายการข้อมูล

                    คำว่า "แพลน"  มีศัพท์บัญญัติ  คือ การวางแผน    แผนการ    ออกแบบ

          ข้อ ๔.การระบาดของโรคปอดอักเสบทำให้งานปาร์ตี้หลายงานต้องยกเลิก

                    คำว่า "ปาร์ตี้" มีศัพท์บัญญัติ คือ งานเลี้ยง   งานสังสรรค์


๓.ข้อใดจำเป็นต้องใช้คำทับศัพท์ (๙๑๒๕๖๒)

ตอบข้อ ๑   กระแสเกมออนไลน์กำลังมาแรงและทำเงินได้มหาศาล

     เพราะคำว่า  "เกม" หมายถึง การแข่งขันทีมีกติกากำหนด

                      คำว่า "ออนไลน์"  หมายถึง ติดต่อสื่อสารกับคอมพิวเตอร์โดยตรงและพร้อมใช้งาน


     ส่วนข้อ ๒   การนำเสนอข้อมูลในสื่อต่าง ๆ ผู้ใช้สื่อจำเป็นต้องชัวร์ก่อนแชร์      

                    คำว่า "ชัวร์" มีศัพท์บัญญัติ คือ แน่นอน / แน่ใจ / มั่นใจ

                    คำว่า "แชร์" มีศัพท์บัญญัติ คือ การแบ่งปัน / เล่าสู่กันฟัง

             ข้อ ๓.พิธีกรรายการทีวีถูกปลดจากรายการเนื่องจากพูดจาไม่เหมาะสม

                    คำว่า "ทีวี" มีศัพท์บัญญัติ คือ โทรทัศน์

            ข้อ ๔.เมื่อเราเดินทางไปต่างประเทศ จำเป็นต้องใช้พาสปอร์ตเพื่อแสดงตน

                คำว่า "พาสปอร์ต" มีศัพท์บัญญัติ คือ หนังสือเดินทาง


๔.ข้อความ ๒ ข้อใดไม่จำเป็นต้องใช้คำทับศัพท์  (๙๑๒๕๖๑)

ตอบข้อ ๒  และ ข้อ ๔  ดังนี้

            ข้อ ๒.ธุรกิจเพื่อสุขภาพเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงในปีนี้

                    คำว่า "เทรนด์"  มีศัพท์บัญญัติ คือ สิ่งที่กำลังเป็นที่นิยม

            ข้อ ๔.ลูกค้าส่วนใหญ่นิยมซื้อเสื้อผ้าที่มีสไตล์สวยหรูทันสมัย

                    คำว่า "สไตล์"  มีศัพท์บัญญัติ คือ รูปแบบ  ลักษณะ


        ส่วนข้อ ๑.เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทสำคัญต่อชีวิต

              ข้อ ๓.อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ที่ใหญ่ที่สุด

              ข้อ ๕.การเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลช่วยให้ประหยัดพื้นที่ได้

คำว่า "เทคโนโลยี"  "อินเทอร์เน็ต" และ "ดิจิทัล"  ยังจำเป็นต้องใช้คำทับศัพท์


เฉลย  ข้อสอบเรื่อง ศัพท์บัญญัติ

๑.ข้อใดมีศัพท์บัญญัติ (๙๑๒๕๖๒)

ตอบข้อ ๒ ข้อมูลสารสนเทศในยุคปัจจุบันช่วยให้ชีวิตของเราสะดวกสบาย

            คำว่า "สารสนเทศ" เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า " information "


  ส่วนข้อ  ๑.นักเรียนในแถบเอเชียมีความเครียดจากการสอบแข่งขันมาก

         ข้อ ๓.ผู้ที่ต้องการจะไปเรียนต่อต่างประเทศต้องใช้ผลการสอบโทเฟล

         ข้อ ๔.นักการเมืองมีแฟนคลับคอยให้กำลังใจไม่ต่างกับนักร้องนักแสดง

       คำว่า "เอเชีย"  "โทเฟล" และ "แฟนคลับ"  เป็นคำที่ยังต้องใช้คำทับศัพท์


๒.ข้อความ ๒ ข้อใดมีทั้งคำทับศัพท์และคำศัพท์บัญญัติ  (๙๑๒๕๖๑)

ตอบ ข้อ ๒ และ ข้อ ๓  ดังนี้

        ข้อ ๒.ขยะพลาสติกมีส่วนทำลายสมดุลของระบบนิเวศ

  คำว่า "พลาสติก" เป็นคำทับศัพท์   ส่วน "ระบบนิเวศ" เป็นศัพท์บัญญัติของ "ecosystem"

        ข้อ ๓.ตำรวจบุกค้นคลินิกศัลยกรรมความงามแห่งหนึ่ง

  คำว่า "คลินิก" เป็นคำทับศัพท์  ส่วน "ศัลยกรรม" เป็นศัพท์บัญญัติของ "surgery"


    ส่วนข้อ ๑.ตรีโกณมิติเป็นสาขาหนึ่งของวิชาคณิตศาสตร์

                    คำว่า "ตรีโกณมิติ" เป็นศัพท์บัญญัติของ  "trigonometry"

                    คำว่า "คณิตศาสตร์" เป็นศัพท์บัญญัติของ  "mathematics"

          ข้อ ๔.กระทรวงศึกษาธิการจัดอภิปรายเรื่องปัญหาวัยรุ่น

                    คำว่า "กระทรวงศึกษาธิการ"  เป็นศัพท์บัญญัติของ  "Ministry  of Education"

                    คำว่า "อภิปราย"  เป็นศัพท์บัญญัติของ  "debate"

          ข้อ ๕.ครูทำวีดิทัศน์ประกอบการสอนวิชาประวัติศาสตร์

                    คำว่า "วีดิทัศน์"  เป็นศัพท์บัญญัติของ "video"

                    คำว่า "ประวัติศาสตร์"  เป็นศัพท์บัญญัติของ "history"