วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2567

นารายณ์สิบปาง

    หากกล่าวถึงเทพเจ้าในศาสนาฮินดู หลายคนต้องนึกถึงพระอิศวร พระพรหมและพระนารายณ์ และเทพองค์อื่น ๆ อีกมากมาย  แต่วันนี้เราจะพูดถึงพระนารายณ์กันค่ะ
      พระนารายณ์ หรือพระวิษณุ เป็นเทพที่มีบทบาทในการปราบสิ่งชั่วร้ายต่างๆ เพื่อให้โลกสุขสงบ ซึ่งในการปราบสิ่งชั่วร้ายนั้น พระนารายณ์จะแบ่งภาคอวตารมายังโลกมนุษย์
     การอวตาร คือ การแบ่งภาคมาเกิดในโลกมนุษย์ของเทพเจ้า โดยเทพจะแบ่งพลังงานส่วนหนึ่งลงมาเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์ เพื่อทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อโลกเดือดร้อนตามความเชื่อของศาสนาฮินดู
       การอวตารมาปราบยุคเข็ญของพระนารายณ์นั้น มีอยู่ 10 ปางด้วยกัน เรียกว่า ทศาวตาร หรือ  นารายณ์สิบปาง  ดังนี้    
     ปางที่ 1 มัตสยาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นปลาศะผะริ เพื่อฆ่าอสูรหัยครีพ ผู้ลักพระเวทของพระพรหม  แล้วปลาศะผะริก็ได้นำพระเวทมาคืนพระพรหม
     ปางที่ 2  กูรมาวตาร   เป็นการอวตารมาเป็นเต่าใหญ่ไปรองรับข้างใต้ภูเขามันทรที่เทวดาใช้กวนน้ำทิพย์ เพราะเกรงว่าเขามันทรจะเจาะโลกลึกจนโลกทลาย
     ปางที่ 3 วราหาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นหมูเพื่อปราบหิรัณตยักษ์ผู้ม้วนแผ่นดิน
     ปางที่ 4 นรสิงหาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นนรสิงห์เพื่อปราบหิรัณยกศิปุยักษ์ซึ่งแย่งสวรรค์ของพระอินทร์
     ปางที่ 5 วามนาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นพราหมณ์เตี้ย ทำอุบายแย่งโลกและสวรรค์จากท้าวพลีพญาแทตย์และมอบบาดาลให้แก่ท้าวพลีครอบครอง
     ปางที่ 6  ปรศุรามาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นพราหมณ์ชื่อ ราม (รามสูร)  เพื่อฆ่าอรชุน
     ปางที่ 7 รามจันทราวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นพระรามตามเรื่องรามเกียรติ์
     ปางที่ 8 กฤษณาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นพระกฤษณะ เพื่อปราบยักษ์พญากงส์ตามเรื่องมหาภารตยุทธ์
     ปางที่ 9 พุทธาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้า คือ พระสิทธัตถกุมาร
     ปางที่ 10 กัลกยาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นบุรุษผิวขาวที่ชื่อ กัลลี  เพื่อปราบกลียุคซึ่งจะมาถึงในอนาคต
      นี่คือปางทั้ง 10 ของพระนารายณ์ที่ได้อวตารลงมาปราบยุคเข็ญในโลกมนุษย์เพื่อให้โลกสวบสุขนั่นเอง....

วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2567

คำที่มีความหมายโดยตรงและความหมายโดยนัย

    คำที่เราใช้กันอยู่นั้น   มีหลายคำที่ไม่ได้มีแค่ความหมายเดียว  เราสามารถใช้ในความหมายอื่น นอกจากความหมายหลักก็ได้

     เรามาดูกันว่า ความหมายของคำ มีกี่แบบ  

แบบที่ 1 คำที่มีความหมายโดยตรง คือ คำที่มีความหมายตรงตามรูปคำ เป็นความหมายแรกที่ทุกคนรู้จัก เมื่อคำนั้นอยู่โดด ๆ ไม่มีคำแวดล้อม เป็นคำที่มีความหมายแรกในพจนานุกรม

เช่น  ลูกช้าง  หมายถึง  ลูกของช้าง

         เสือ    หมายถึง  เสือที่เป็นสัตว์

แบบที่ 2 คำที่มีความหมายโดยนัย คือ คำที่มีความหมายแฝงอยู่ ไม่ได้มีความหมายตรงตามรูปคำ  แต่ต้องใช้การตีความร่วมด้วย  มักมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ หรือการเปรียบเทียบ และพบในวรรณคดีและการนำเสนอข่าวสารค่อนข้างมาก

เช่น  ลูกช้าง  หมายถึง คำสรรพนามแทนตัวผู้พูด เมื่อขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์

         เสือ  หมายถึง  โจร  เช่น  เสือผาดปล้นหมู่บ้าน 

       เมื่อเราได้ฟังหรืออ่านข้อความต่าง ๆ แล้วเราต้องตีความอีกว่า คำที่ใช้ในข้อความนั้นหมายถึงอะไร  เราต้องพิจารณาจากคำข้างเคียงของคำศัพท์นั้น ๆ เราจึงจะเข้าใจความหมายของข้อความได้ เช่น

    - ฉันถูกเขาตบตาเรื่องนี้มานานแล้ว   วันนี้ตาสว่างเสียที

   หมายถึง  ฉันถูกเขาหลอกลวงเรื่องนี้มานานแล้ว  วันนี้รู้ความจริงเสียที

   ไม่ได้หมายความว่า ฉันถูกทำร้ายร่างกาย โดยการถูกตบตีที่ดวงตาเพราะเรื่องนี้ 

ตัวอย่างคำที่มี ทั้งความหมายโดยตรงและความหมายโดยนัย

คำ - ความหมายโดยตรง / โดยนัย

เทพ - เทวดา / เก่งมาก

เซียน - เทวดา (จีน) /เก่งมาก

รากหญ้า - รากต้นหญ้า / คนส่วนใหญ่ที่                                            ยากจน

ปูพรม - ปูพรมบนพื้น / กระจายกำลัง                               ค้นหาอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่

มือขวา - มือข้างขวา / คนสนิทของ              เจ้านาย สามารถทำงานแทนเจ้านายได้

ซองขาว - ซองสีขาว / ถูกไล่ออกจากงาน

หิน - ก้อนหิน / ยาก, หนัก

วันทอง - นางวันทองคือชื่อตัวละครจากเรื่องขุนช้างขุนแผน / หญิงที่มีสามีหลายคน หรือหญิงหลายใจ  มากรัก

ตีนแมว - เท้าของแมว / โจรย่องเบา

พ่อพระ - พ่อของพระ / ผู้ชายที่ใจดีมาก

งูเห่า - งูที่มีพิษร้ายแรง / คนที่เลี้ยงไม่เชื่อง มักทำร้ายคนที่ให้ความช่วยเหลือตัวเอง

      คำเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากอยากรู้ว่าคำนั้นมีความหมายโดยตรงหรือความหมายโดยนัย  ต้องอ่านทั้งข้อความแล้วค่อยตีความความหมายของคำนั้นนะคะ  



วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2567

บทอาขยาน จาก บทพากย์เอราวัณ

      "บทพากย์เอราวัณ" เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์  ตอน ศึกอินทรชิต  ซึ่งเป็นการพรรณนาถึงความยิ่งใหญ่ และความสวยงาม ของช้างเอราวัณ 

       ช้างเอราวัณ เป็นช้างทรงของพระอินทร์  เมื่อพระอินทร์เสด็จไปในที่ต่าง ๆ เทพบุตรชื่อ "เอราวัณ" จะแปลงกายเป็นช้างเอราวัณ เพื่อเป็นเทพพาหนะให้กับพระอินทร์นั่นเอง

        เรามาดูความยิ่งใหญ่ของช้างเอราวัณ จากบทอาขยานต่อไปนี้เลยค่ะ

       อินทรชิตบิดเบือนกายิน      เหมือนองค์อมรินทร์

ทรงคชเอราวัณ

    ช้างนิรมิตฤทธิแรงแข็งขัน      เผือกผ่องผิวพรรณ

สีสังข์สะอาดโอฬาร์ 

    สามสิบสามเศียรโสภา       เศียรหนึ่งเจ็ดงา

ดังเพชรรัตน์รูจี

    งาหนึ่งเจ็ดโบกขรณี          สระหนึ่งย่อมมี 

เจ็ดกออุบลบันดาล

    กอหนึ่งเจ็ดดอกดวงมาลย์    ดอกหนึ่งแบ่งบาน

มีกลีบได้เจ็ดกลีบผกา            

    กลีบหนึ่งมีเทพธิดา          เจ็ดองค์โสภา

แน่งน้อยลำเพานงพาล

    นางหนึ่งย่อมมีบริวาร       อีกเจ็ดเยาวมาลย์

ล้วนรูปนิรมิตมารยา

    จับระบำรำร่ายส่ายหา      ชำเลืองหางตา

ทำทีดังเทพอัปสร

    มีวิมานแก้วงามบวร        ทุกเกศกุญชร   

ดังเวไขยันต์อมรินทร์

    ..........................................................