วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2565

คำนี้...ใช้ได้ไหม ?

              

     เคยไหมคะที่เราเห็นป้ายหรือเห็นข้อความต่าง ๆ แล้ว เรารู้สึกว่า....เอ่อ.!..ทำไมเขียนแบบนี้ล่ะ ?   คือขับรถไปตามทางเรื่อย ๆ แล้วมีรถสิบล้อแซงรถของเราไป แล้วเราก็เห็นป้ายท้ายรถเขียนว่า "รถกรึ่งพ่วง"  เรายิ้มเลยนะ  สงสัยว่าคนทำป้ายน่าจะชอบการออกเสียงควบกล้ำ  ร  

        เราเคยไปที่วัดแห่งหนึ่ง บริเวณวัดร่มรื่นมาก  มีเสียงนกนานาชนิดร้องประสานเสียงกันเพราะมาก  มีนกยูงเผือกอยู่กันเป็นฝูง  ๆ  ส่งเสียงร้องดังก้องไปทั่วบริเวณ กำลังตื่นตาตื่นใจกับฝูงนกยูงที่กำลังรำแพนหางอย่างสวยงาม    อยู่ดี ๆ สายตาเจ้ากรรมก็เหลือบไปเห็นป้ายสีเหลืองขนาดย่อม ๆ ติดอยู่กลางลำต้นของต้นไม้ขนาดใหญ่ ในป้ายเขียนว่า "สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ โปรดให้ความเคารพโดยการแต่งกายสุขภาพ"   อีกล่ะ  เอ้า !  เราก็สงสัยว่า ทำไมไม่มีใครตรวจสอบข้อความบ้างน้อ  หรือว่าจะไม่มีใครสังเกตเห็น    หรือว่า เป็นการผลิตป้ายอย่างเร่งด่วน จึงไม่มีเวลาตรวจสอบความถูกต้องของคำ....                 

                                   

    นอกจากนี้ยังมีป้ายรายการอาหาร  ป้ายบอกทาง  ป้ายเตือน  ป้ายประกาศต่าง ๆ ที่ยังมีการใช้คำที่เขียนผิด แต่ไม่ได้รับการแก้ไข  หลายคนก็อ่านนะ แต่ว่าก็ยิ้ม ๆ เห็นว่าเป็นเรื่องขำ ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว นั่นคือความผิดพลาดทางการสื่อสาร ซึ่งอาจจะเกิดจากความไม่รู้และไม่ยอมรับว่าตัวเองไม่รู้  หรืออาจเกิดจากความสะเพร่า  ความรีบเร่งของคนเขียนข้อความนั้น  ๆ 

    มีหลายครั้งที่เราท้วงว่า คำนี้เขียนไม่ถูกนะ  แต่ก็มักจะได้ยินคำแก้ตัวว่า  ก็ฉันรีบเขียน ก็เลยเขียนไม่ถูก  เราก็เลยบอกไปว่า ถ้าเราสะกดคำถูก ต่อให้เรารีบเขียนยังไงก็แล้วแต่  เราก็จะยังเขียนคำนั้นถูกต้องเสมอ แม้ว่าลายมือจะไม่สวยก็ตาม....

     เราก็เลยรู้สึกว่า ก่อนที่เราจะเขียนอะไรก็ตาม ควรตรวจสอบให้ดีก่อน เพราะนั่นอาจทำให้คนอ่านเข้าใจว่าเราเป็นคนไทยแต่ทำไมเขียนภาษาไทยไม่ถูก

        การเขียนคำจึงมีความจำเป็นอย่างมาก แม้เราจะบอกว่า เขียนผิดไม่เป็นไร ให้แต่อ่านออกเสียงได้ถูกต้องก็พอ  แต่เราอาจลืมไปว่า หากเราเขียนผิด  เราก็จะอ่านผิดไปด้วย และการสื่อความหมายก็จะผิดตามไปด้วย  นั่นแสดงถึงความบกพร่องในการใช้ภาษาไทยของเรา

        ให้ระวัง คำไหนควรเขียนอย่างไร  คำไหนควรอ่านอย่างไร  โดยเฉพาะคำว่า  คะ  ค่ะ  ซึ่งถือว่าเป็นคำที่คนไทยใช้ผิดกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่อเขียนคำเหล่านี้ ทั้ง ๆ ที่ถ้าเป็นการพูด หลายคนก็สามารถพูดและออกเสียงวรรณยุกต์ได้ถูกต้อง แต่เมื่อนำคำเหล่านี้มาเขียนก็เขียนไม่ถูกกับสถานการณ์ เช่น  วันนี้เราจะไปไหนกันดีค่ะ     น้อง ๆ ที่น่ารักทุกคนค่ะ  ซึ่งทำให้คนอ่าน อ่านแล้วรู้สึกขัดใจพอสมควร

      อยากให้คนไทยทุกคนใช้ทั้งภาษาพูด และเขียนคำให้ถูกต้อง เพื่อช่วยกันรักษาภาษาไทยให้เป็นเอกลักษณ์ของชาติเราต่อไปค่ะ....






     

  

   

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2565

ข้อสอบการโน้มน้าวใจ

     เคยไหมที่เมื่อมีคนมาพูดอะไรกับเราแล้วทำให้เราคล้อยตามเขา เห็นด้วยกับคำพูดหรือข้อความนั้น และเชื่อในสิ่งที่เราได้ฟังนั้นอย่างสนิทใจ

    ถ้าเราเคยมีอาการเหล่านั้น แสดงว่าเรากำลังถูกคนอื่นใช้เทคนิคการโน้มน้าวใจนั่นเอง

  การโน้มน้าวใจ   คือ การพยายามเปลี่ยนแปลงความเชื่อ  ทัศนคติ  การกระทำของบุคคลอื่นด้วยกลวิธีที่เหมาะสม ให้มีผลกระทบต่อใจของผู้นั้น จนเกิดการยอมรรับและเปลี่ยนตามที่ผู้โน้มน้าวใจต้องการ

    ผู้ที่ต้องการโน้มน้าวใจ สามารถใช้กลวิธีการโน้มน้าวใจ ดังนี้

    ๑.การสร้างศรัทธาหรือความน่าเชื่อถือ ว่า มีความรู้จริง / มีคุณธรรม / มีความจริงใจ ซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือได้ง่ายมาก

    ๒.การใช้เหตุผลที่มีความสมเหตุสมผล  มีเหตุผลหนักแน่น  ทำให้ผู้ถูกโน้มน้าวใจคล้อยตามได้ง่าย

    ๓.การสร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมว่าเป็นพวกเดียวกัน กลุ่มเดียวกัน ย่อมทำให้คล้อยตามได้ง่าย

    ๔.การให้ทางเลือกทั้งด้านดีและด้านเสีย เพื่อให้ผู้ถูกโน้มน้าวใจภูมิใจว่าตนได้เลือกเอง ไม่ใช่การบีบบังคับ

    ๕.การสร้างความหรรษา  สร้างอารมณ์ขันเพื่อให้ผู้ถูกโน้มน้าวใจรู้สึกผ่อนคลายและพร้อมที่จะคล้อยตามในที่สุด

    ๖.การเร้าให้เกิดอารมณ์อย่างแรงกล้า วิธีนี้จะใช้ได้ดีในกรณีที่ไม่อาจจะใช้เหตุผลได้

    การโน้มน้าวใจ อาจมาในรูปแบบของ คำเชิญชวน หรือคำโฆษณาสินค้าหรือบริการ การโฆษณาชวนเชื่อก็ได้

    เมื่อทราบลักษณะของข้อความที่โน้มน้าวใจแล้ว ก็มาลองทำแบบทดสอบกันเลย

๑.สำนวนข้อใดไม่ใช่การพูดโน้มน้าวใจโดยใช้ภาษาเชิงเสนอแนะ

    ๑.เมื่อน้อยให้เรียนวิชา  ให้หาสินเมื่อใหญ่

    ๒.คบคนให้ดูหน้า  ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ

    ๓.ที่ทับจงมีไฟ  ที่ไปจงมีเพื่อน

    ๔.รำไม่ดี  โทษปี่โทษกลอง

๒. การโน้มน้าวใจในข้อใดไม่มีการแสดงเหตุผล

    ๑.บุฟเฟ่ต์ข้าวแกงอร่อยที่สุดในย่านนี้

    ๒.ผลิตจากสมุนไพรคุณภาพดี  ช่วยให้ผิวเนียนนุ่ม

    ๓.รับประกันความอร่อย เพราะเปิดขายมานานกว่า ๕๐ ปี

    ๔.ถ้าโทรมาตอนนี้  คุณจะได้รับส่วนลดทันที ๕๐ เปอร์เซ็นต์

๓. ข้อใดใช้คุณสมบัติของสินค้าในการโฆษณาเพื่อโน้มน้าวใจ

    ๑.เมนูเด็ดของร้านนี้คือซีฟู้ด  กุ้ง  หอย  ปู  ปลา

    ๒.กุ้งแม่น้ำเผาตัวใหญ่ยักษ์หอมฉุย ชวนน้ำลายไหล

    ๓.สำหรับพวกกุ้งเลิฟเวอร์ ที่นี่มีสารพัดกุ้งให้ลิ้มลอง

    ๔.เมนูเด็ดอีกอย่างคือส้มตำปูม้าที่ปรุงโดยกุ๊กชาวอีสานขนานแท้

๔. ข้อใดโน้มน้าวใจด้วยการใช้เหตุผลสนับสนุน

    ๑.ผู้รู้กล่าวว่าการเรียนรู้คือชีวิต

    ๒.คนที่หยุดพัฒนาตัวเองคือมะเร็งร้ายที่เกาะกินสังคม

    ๓.ผู้มีประสบการณ์ชีวิตมากย่อมมีโอกาสเจริญก้าวหน้าสูง

    ๔.การรู้จักมองและใช้ประโยชน์จากสิ่งรอบ ๆ ตัวนั้นจะทำให้เราฉลาดขึ้น

๕. "กรรมเราเป็นคนทำ เราก็ควรจะต้องเป็นคนแก้ว  จะไปให้คนอื่นแก้ให้ไม่ได้"  ข้อความนี้ใช้ภาษาในการพูดโน้มน้าวใจตามข้อใด

    ๑.การใช้ภาษาเชิงเสนอแนะ

    ๒.การใช้ภาษาเชิงวิงวอน

    ๓.การใช้ภาษาเชิงขอร้อง

    ๔.การใช้ภาษาเชิงเร้าใจ

๖. ข้อความต่อไปนี้ใช้กลวิธีโน้มน้าวใจตามข้อใด

"แม่บอกลูกว่า  อย.เตือนให้ระวังผักและผลไม้ที่ซื้อมาจากตลาด  ผักผลไม้พวกนั้นมีแต่สารเคมีและสิ่งสกปรกต่าง ๆ ติดอยู่ทั้งนั้น  ต้องล้างน้ำหลาย ๆ ครั้ง ให้สะอาดเพื่อสุขภาพที่ดี "

    ๑.ให้เหตุผลที่น่าเชื่อถือ

    ๒.ใช้วิธีการเปรียบเทียบ

    ๓.เร้าให้เกิดอารมณ์อย่างแรงกล้า

    ๔.ให้ทางเลือกทั้งด้านดีและด้านเสีย

๗.การโน้มน้าวใจในข้อใดไม่มีการแสดงเหตุผล

    ๑.ครีมบำรุงนี้ปลอดภัยต่อผู้ใช้ด้วยสารสกัดบริสุทธิ์จากธรรมชาติ

    ๒.การกดซื้อบัตรคอนเสิร์ตของศิลปินบางคนให้ได้ที่ติดเวทีเป็นเรื่องยาก

    ๓.กล้ามเนื้อที่แข็งแรงจากการออกกำลังกายช่วยให้สมรรถภาพร่างกายดีขึ้น

    ๔.ห่านย่างร้านนี้รับประกันความอร่อยจากรางวัลร้านอาหารยอดเยี่ยม ๓ ปีซ้อน

๘. ข้อความต่อไปนี้ใช้กลวิธีโน้มน้าวใจตามข้อใด

"  ผมจัดส่งกระบองเพชรให้ลูกค้าได้ทุกวัน  เฉลี่ยรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า ๕๐,๐๐๐ บาท การขายกระบองเพชรของผมบอกเลยว่า ตลาดออนไลน์ช่วยในเรื่องการซื้อขายได้ดีมาก  เพราะแม้ลูกค้าจะอยู่ห่างไกลกัน ก็ยังซื้อต้นไม้ของเราได้  ดังนั้น  กระบองเพชรจึงเป็นต้นไม้ที่ขายได้ไม่ยาก  ตลาดแบบไหนก็ทำได้สบาย ๆ ในยุคนี้ และช่วยให้เกิดรายได้ร่ำรวยแน่นอน"

    ๑.ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมกัน

    ๒.เร้าให้เกิดอารมณ์อย่างแรงกล้า

    ๓.มีหลักฐานและเหตุผลที่น่าเชื่อถือ

    ๔.ให้ทางเลือกทั้งด้านดีและด้านเสีย


เฉลย

๑.ตอบข้อ ๔ เป็นการพูดโดยไม่มีการเสนอแนะ     

    ข้อ ๑ เป็นการเสนอแนะว่าเมื่อเด็กให้ตั้งใจเรียน เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ให้ตั้งใจทำงานหาทรัพย์สิน    

    ข้อ ๒ เป็นการให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการคบคน ว่าจะคบค้าสมาคมกับใครก็ต้องดูให้ดี ๆ 

    ข้อ ๓ เป็นการเสนอแนะว่า ที่อยู่อาศัยควรมีไฟยามค่ำคืน และถ้าจะไปไหน ก็ควรมีเพื่อนไปด้วย

๒.ตอบข้อ ๑ ส่วนข้ออื่น ๆ มีเหตุผลประกอบดังนี้

    ข้อ ๒ เพราะผลิตจากสมุนไพรที่มีคุณภาพดี   ผลที่เกิดคือ ช่วยให้ผิวเนียนนุ่ม

    ข้อ ๓ สังเกตจากคำว่า เพราะ  เนื่องจากเป็นคำที่ใช้แสดงเหตุผลอยู่แล้ว   เพราะเปิดขายมานานกว่า ๕๐ ปี  ผลที่เกิดคือ รับประกันความอร่อย

    ข้อ ๔ เพราะถ้าคุณโทรมาตอนนี้  ผลที่เกิดคือ คุณจะได้รับส่วนลดทันที ๕๐ เปอร์เซ็นต์

๓.ตอบข้อ ๒ เพราะใช้คำที่ให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจน  กุ้งแม่น้ำเผาตัวใหญ่ยักษ์หอมฉุย ชวนน้ำลายไหล

๔.ตอบข้อ ๔  สังเกตจากคำว่า จะทำให้... ซึ่งเป็นคำที่ใช้บอกผลที่จะเกิดขึ้น  เหตุคือ การรู้จักมองและใช้ประโยชน์จากสิ่งรอบ ๆ ตัวนั้น  ทำให้เกิดผล คือ เราฉลาดขึ้น

๕.ตอบข้อ ๑ เป็นการใช้ภาษาเชิงเสนอแนะ เป็นการให้คำแนะนำ

๖.ตอบข้อ ๑ เป็นการให้เหตุผลที่น่าเชื่อถือ

๗.ตอบข้อ ๒ ไม่มีการแสดงเหตุผล 

๘.ตอบข้อ ๒ เพราะมีการใช้คำพูดโน้มน้าวให้ผู้อ่านอยากทำตาม โดยเน้นว่า ขายได้ไม่ยาก และมีรายได้  ร่ำรวยแน่นอน  จึงทำให้ผู้อ่านอยากขายเหมือนผู้เขียน