วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2566

คำยืมภาษาอังกฤษนี้ที่ถูกตัดย่อพยางค์

         ฮัลโหล !  วันนี้เรามาเรียนรู้เรื่อง คำยืมจากภาษาอังกฤษที่คนไทยมักนำมาใช้พูดสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นความเคยชินไปแล้ว จนบางครั้งนึกว่าเป็นคำไทยเสียอีก

        คำยืมจากภาษาอังกฤษ ที่เรายืมมาใช้นั้นมีอยู่อย่างหลากหลาย สามารถพบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะชื่อเรียกสิ่งต่าง ๆ  เช่น อาหาร  เครื่องดื่ม  ผัก  ผลไม้  เครื่องดนตรี  ของใช้ทั่วไป   เครื่องแต่งกาย  เครื่องสำอาง  ศัพท์ทางวิชาการต่าง ๆ โดยเฉพาะศัพท์ทางวิทยาศาสตร์  ศัพท์ทางการแพทย์  หรือแม้แต่ชื่อเล่นของน้อง ๆ รุ่นใหม่  ซึ่งส่วนใหญ่มักออกเสียงเป็นคำภาษาอังกฤษนั่นเอง

       คำยืมจากภาษาอังกฤษนั้น มีทั้งคำที่มีพยางค์เดียว และคำที่มีหลายพยางค์  และแน่นอนว่า เมื่อคนไทยยืมคำเหล่านั้นมาใช้ เราก็ต้องมีการปรับให้คนไทยสามารถออกเสียงคำเหล่านั้นให้ง่ายขึ้น ด้วยการตัดพยางค์จากคำต้นฉบับให้สั้นลง  อาจตัดพยางค์แรกของคำออก หรือตัดพยางค์กลางคำออก หรืออาจตัดพยางค์ท้ายคำออกก็ได้

        แม้ว่าคำยืมเหล่านั้นจะถูกตัดให้มีเสียงสั้นลง แต่คนไทยก็ยังสามารถเข้าใจว่าหมายถึงสิ่งใด และเรามักนำคำเหล่านั้นไปใช้ในกรณีที่ไม่เป็นทางการ หรือใช้ในภาษาพูดเท่านั้น

        ในการตัดพยางค์ของคำที่มาจากภาษาอังกฤษให้สั้นลงจะสามารถทำได้ แต่พยางค์ที่ถูกตัดแล้ว จะต้องเป็นพยางค์ที่คนทั่วไปยอมรับและเข้าใจตรงกัน  ไม่ใช่อยากจะตัดคำไหนให้สั้นลง ก็ตัดเอาเองโดยที่คนอื่นเขาไม่เข้าใจ  แบบนี้ก็ไม่ได้นะจ๊ะ

        เรามาดูตัวอย่างคำยืมจากภาษาอังกฤษ ที่ถูกตัดให้มีพยางค์น้อยลงกว่าเดิมกันดีกว่าจ้า

1. มอเตอร์ไซค์   ใช้ว่า    มอไซค์

2. ไมโครเวฟ      ใช้ว่า    เวฟ

3. ฟุตบอล          ใช้ว่า   บอล

4. วอลเลย์บอล   ใช้ว่า  วอลเลย์

5. บาสเกตบอล    ใช้ว่า   บาส

6. กิโลเมตร         ใช้ว่า   กิโล   (คนไทยตัดสั้นไปอีก  ใช้ว่า  โล)

7. กิโลกรัม          ใช้ว่า   กิโล   (คนไทยตัดสั้นไปอีก   ใช้ว่า   โล)

8. ลิปสติก           ใช้ว่า  ลิป

9. เนกไท             ใช้ว่า  ไท

10. อีเมล              ใช้ว่า   เมล

11. แบดมินตัน      ใช้ว่า   แบด

12. แซ็กโซโฟน    ใช้ว่า  แซ็ก

13. ไมโครโฟน      ใช้ว่า  ไมค์

14. คอมพิวเตอร์    ใช้ว่า  คอม

15. อินเทอร์เน็ต     ใช้ว่า  เน็ต

16.  เว็บไซต์           ใช้ว่า   เว็บ

17. เฟซบุ๊ก             ใช้ว่า  เฟซ

18. ไนต์คลับ           ใช้ว่า  คลับ

19. มาเลเซีย           ใช้ว่า   มาเลย์

20. แบตเตอรี          ใช้ว่า  แบต

21. อินโดนีเซีย         ใช้ว่า  อินโด

22. คอนโดมิเนียม    ใช้ว่า  คอนโด

23. คอนเสิร์ต           ใช้ว่า  คอน

24. ก๊อปปี้                 ใช้ว่า  ก๊อป

25. เว็บเพจ               ใช้ว่า  เพจ

26. โคคาโคล่า          ใช้ว่า  โคล่า

27. โอเวอร์                ใช้ว่า  เวอร์

28. เกมโอเวอร์           ใช้ว่า   เกม

29. แอร์คอนดิชันเนอร์  ใช้ว่า แอร์คอนดิชัน  ตัดให้สั้นอีก    ใช้ว่า  แอร์ 

30. ฮิปโปโปเตมัส         ใช้ว่า  ฮิปโป

31. ดับเบิ้ล                    ใช้ว่า เบิ้ล

32. แอปพลิเคชัน          ใช้ว่า  แอป

33. คอมเมนต์                ใช้ว่า  เมนต์

34. อัปโหลด                  ใช้ว่า  อัป

35. ดาวน์โหลด              ใช้ว่า  โหลด

36. ยิมเนเซียม               ใช้ว่า  ยิม

37. แฮมเบอร์เกอร์          ใช้ว่า  เบอร์เกอร์

     คงจะพอเห็นตัวอย่างการตัดคำให้สั้นลงกันแล้วนะคะ  ถ้าเราใช้คำที่ตัดสั้นจนเคยชิน อาจจะทำให้เราลืมคำเต็มของคำนั้นไปเลยก็ได้นะ

     แล้วคุณล่ะ...ชอบใช้คำแบบเต็ม ..หรือคำแบบตัดพยางค์...? ...








 

วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2566

คำคล้องจอง สัมผัสนอก สัมผัสใน ของบทร้อยกรอง

     หลายครั้งที่เราต้องแต่งคำประพันธ์ สิ่งที่จะขาดไม่ได้นอกจากเราต้องรู้จักฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์แต่ละชนิดแล้ว  ยังต้องมี คำสัมผัส  ที่เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้คำประพันธ์ของเรามีความไพเราะ และมีความเป็นเทพอยู่ในตัว นั่นก็คือ สัมผัสนอก  และสัมผัสใน  นั่นเอง

        สัมผัสนอก  เรียกอีกอย่างว่า  สัมผัสบังคับ  เป็นสัมผัสบังคับของคำประพันธ์แต่ละชนิด  ซึ่งเป็นสัมผัสที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงระหว่างวรรคต่อวรรค  หรือเชื่อมโยงระหว่างบท  ซึ่งเราจะเรียกสัมผัสที่เชื่อมระหว่างบทว่า  "สัมผัสระหว่างบท"  นั่นเอง

ถ้าขาดสัมผัสนอก  คำประพันธ์นั้น ก็จะผิดฉันทลักษณ์ไปทันที และตกรอบแรกเลยจ้า

        สัมผัสใน  เป็นสัมผัสที่แสดงความเป็นเทพของผู้แต่งคำประพันธ์นั้น ๆ  เพราะเป็นคำสัมผัสที่คล้องจองกันในแต่ละวรรคเท่านั้น  ไม่ใช่คำสัมผัสข้ามวรรค

        สัมผัสใน  แบ่งได้ ๒ ประเภท คือ สัมผัสสระ  และ  สัมผัสพยัญชนะ (สัมผัสอักษร) ดังนี้

๑. สัมผัสสระ  มีหลักการสังเกต ดังนี้

    ๑.๑ ถ้าเป็นคำที่มีเฉพาะสระ ไม่มีตัวสะกด  ก็ต้องให้สระมีเสียงเดียวกัน  เช่น   นา   มา  ยา   หา   ข้า   ล่า   ป๋า  

    ๑.๒ ถ้าเป็นคำที่มีตัวสะกด  สัมผัสสระ จะต้องมีเสียงสระเหมือนกัน และมีตัวสะกดในมาตราเดียวกัน  เช่น   คล้อย   ย้อย   จอย   ปอย   ปล่อย   ย่อย   สอย 

     หลักการหาสัมผัส  ให้เราคำนึงถึงการออกเสียงเป็นหลัก  ไม่ต้องกังวลว่ารูปพยัญชนะตัวสะกดจะตรงมาตราหรือไม่  เช่น  คำว่า  กัลป์   ให้ออกเสียง  อัน   แล้วเราก็หาคำที่ออกเสียง  อัน    เช่น   จันทร์    ทัน   บรร    สรร   สันต์   จัญ  

    จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า คำที่มีเสียง  อัน  แม้ว่าจะมีรูปตัวสะกดต่างกัน แต่ก็อยู่ในมาตราแม่ กน ทุกตัว

๒. สัมผัสพยัญชนะ หรือ สัมผัสอักษร   มีหลักสังเกต  ดังนี้

    ๒.๑ คำนั้นต้องใช้พยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน  (เน้นว่า  เสียงเดียวกัน ซึ่งอักษรสูงและอักษรต่ำ นับว่าเป็นเสียงเดียวกัน  ได้แก่   ข - ค - ฆ  /  ฉ - ช / ฐ - ถ - ท - ฑ - ฒ - ธ / ผ - พ - ภ / ฝ -ฟ / ศ - ษ - ส - ซ /  ห - ฮ)  

    ๒.๒  ไม่ต้องดูว่า คำนั้นมีสระหรือตัวสะกดในมาตราเดียวกันหรือไม่  เพราะเราเน้นที่เสียงพยัญชนะต้น  เป็นหลัก   เช่น  เมื่อมั่งมีมากมายมิตรหมายมอง    (ใช้เสียง  /ม/)

    ๒.๓  ถ้าดูรูปคำแล้วสับสน  ให้อ่านคำนั้นเป็นแบบอักษรย่อ ก็จะทำให้เราออกเสียงได้ชัดขึ้น  เช่น  จะจับจองจ่องจ้องสิ่งใดนั้น   ให้อ่านเป็น   จ จ จ จ จ ส ด น   (ใช้เสียง /จ/ มากที่สุด)

 สินสมุทรสุดฉลาดไม่อาจบอก   ให้อ่านเป็น   ส  ส  ม  ส  ฉ  ล  ม  อ  บ   (ใช้เสียง /ส/ จำนวน ๓ พยางค์  คือ  สินสมุทรสุด) เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เราเห็นตัวย่อของคำได้ครบทุกพยางค์นั่นเอง

        หวังว่า ผู้อ่านคงจะได้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยไปใช้กันบ้างนะคะ  

        เพียงเท่านี้  การหาสัมผัสนอก และสัมผัสในจากบทร้อยกรอง จะง่ายขึ้นกว่าเดิมมากเลยจ้า