วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2565

สรุปย่อบทละครพูด เรื่อง เห็นแก่ลูก

    บทละครพูดเรื่อง เห็นแก่ลูก 

        เป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)  ซึ่งพระองค์ทรงใช้พระนามแฝงในการพระราชนิพนธ์ คือ พระขรรค์เพชร 

        บทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก เป็นบทละครพูดขนาดสั้น  มีความยาวเพียงองก์เดียว (ตอนเดียว) และมีฉากเดียว  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคิดเค้าโครงเรื่องขึ้นเอง มิได้ทรงแปลหรือดัดแปลงจากบทละครต่างประเทศ

        บทละครพูดเรื่อง เห็นแก่ลูก ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ  ๑๓ ภาษา ได้แก่ ภาษาเกาหลี   จีน   ญี่ปุ่น   นอร์เวย์   ฝรั่งเศส   มาเลย์    รัสเซีย    สเปน    สิงหล   อังกฤษ    อาหรับ    อินโดนีเซีย    และฮินดี   เนื่องในโอกาสเฉลิมพระเกียรติในวาระฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ ๑๐๐  ปี ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง

       บทละครพูด คือ บทละครที่ใช้สำหรับการแสดงละครที่แสดงโดยให้ตัวละครสนทนาโต้ตอบกันเหมือนในชีวิตจริง  ไม่มีดนตรี  การรำ  หรือการขับร้องประสม  

        บทละครพูด เริ่มมีในประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) แต่ได้รับความนิยมแพร่หลายในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)  เนื่องจากพระองค์โปรดการละครเป็นอย่างยิ่ง

        เรื่องย่อ บทละครพูด เรื่อง เห็นแก่ลูก

        ตัวละครเอกของเรื่อง คือ พระยาภักดีนฤนาถ   นายล้ำ  และแม่ลออ   ส่วนตัวประกอบ คือ อ้ายคำซึ่งเป็นบ่าวของพระยาภักดีนฤนาถ

        ฉากเริ่มต้นที่ห้องหนังสือในบ้านของพระยาภักดีนฤนาถ  จากบทสนทนาทำให้ทราบว่า พระยาภักดีและนายล้ำเคยเป็นเพื่อนกัน  ทั้งสองคนเคยเป็นเพื่อนรักกันมาก่อน  นายล้ำเคยรับราชการจนได้ตำแหน่งทิพเดชะ  แต่เป็นคนที่ดื่มเหล้าจัด   ส่วนพระยาภักดีนฤนาถ มีตำแหน่งเป็นหลวงกำธร   ทั้งสองคนเคยรักผู้หญิงคนเดียวกัน  คือ แม่นวล  

        นายล้ำได้แต่งงานกับแม่นวลและมีบุตรสาวคนหนึ่งชื่อ แม่ลออ  แต่นายล้ำต้องโทษจำคุก  ๑๐ ปี ฐานประพฤติทุจริต    ต่อมาแม่นวลได้ฝากแม่ลออซึ่งมีอายุได้ ๒ ปีไว้กับพระยาภักดีก่อนสิ้นใจเพราะมีชีวิตแต่งงานที่ไม่มีความสุข

        พระยาภักดีนฤนาถจึงได้อุปการะแม่ลออ โดยเลี้ยงดูและรักแม่ลออเหมือนลูกแท้ ๆ ของตน และบอกเธอว่า บิดามารดาที่เสียชีวิตไปแล้วนั้นเป็นคนดี

        เมื่อนายล้ำพ้นโทษ  และได้ออกมาค้าฝิ่นกับพ่อค้าชาวจีนสองคนคือ จีนกิม กับจีนเง็ก แต่ก็ถูกตำรวจจับ แต่เนื่องจากนายล้ำมีทนายคอยช่วยเหลือจึงไม่ได้ถูกจับไปด้วย  เมื่อนายล้ำหมดทางทำมาหากิน และได้ทราบข่าวว่า แม่ลออกำลังจะได้แต่งงานกับนายทองคำ บุตรของเจ้าคุณรณชิตผู้ร่ำรวย  นายล้ำจึงคิดจะมาพึ่งพาลูกสาว

         พระยาภักดีนฤนาถ เมื่อเห็นนายล้ำที่ไม่ได้พบกันมานาน ๑๕ ปี และทราบว่านายล้ำต้องการมาแสดงตัวว่าเป็นพ่อของแม่ลออ ก็รู้สึกไม่พอใจและเกรงว่าบุตรสาวจะต้องอับอายขายหน้าและครอบครัวของฝ่ายชายอาจไม่ยอมรับจึงเสนอเงินให้นายล้ำเพื่อให้กลับไป  

        นายล้ำแสดงความเห็นแก่ตัวโดยจะขอพบแม่ลออ  และเมื่อได้พบกันแล้ว  นายล้ำได้พูดคุยกับแม่ลออและพบว่าเธอชื่นชมบิดาที่แท้จริงว่าเป็นบุรุษผู้แสนดี  น่าเคารพเลื่อมใส โดยดูจากภาพถ่ายของนายล้ำที่อยู่ในห้องแม่นวล โดยไม่รู้ว่านายล้ำเป็นบิดาที่แท้จริงของตน

        จากการพูดคุยกับแม่ลออ  ทำให้ความรู้สึกของนายล้ำเปลี่ยนไป  นายล้ำเกิดความละอายใจและไม่เปิดเผยความจริง   เขาไม่อาจลบภาพพ่อที่แสนดีในใจของแม่ลออได้   ความเห็นแก่ตัวของนายล้ำจึงหมดไปและเปลี่ยนเป็นความรู้สึกที่เห็นแก่ลูกอย่างจริงใจ   เพื่อให้แม่ลออมีชีวิตที่มีความสุขต่อไป  

        ก่อนที่นายล้ำจะจากไปได้ฝากแหวนของแม่นวล วงหนึ่งให้พระยาภักดีนฤนาถมอบให้แก่แม่ลออ  เป็นของรับไหว้ในวันแต่งงานของแม่ลออ 

        พระยาภักดีนฤนาถได้มอบเงินจำนวนสี่ร้อยบาท พร้อมกับรูปถ่ายของแม่ลออ มอบให้นายล้ำและนายล้ำได้ให้คำมั่นสัญญากับพระยาภักดีนฤนาถว่าจะตั้งใจทำงานที่สุจริตอยู่ที่เมืองพิษณุโลกต่อไป...

        ข้อคิดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

๑. สถาบันครอบครัวมีความสำคัญต่อโครงสร้างสังคมไทย

๒.คนดีย่อมมีผู้นับถือ

๓.อย่าทำตนให้ตกต่ำเพราะการกระทำของตนเอง

๔.มนุษย์ทุกคน มีความรักลูกเสมอ (แม้ว่าคนที่เห็นแก่ตัวอย่างนายล้ำ สุดท้ายก็แสดงแก่นแท้ของหัวใจที่รักลูก  เห็นแก่ลูก  ยอมเสียสละเพื่อลูก)

๕. หาดกจะเลี้ยงดูผู้ใดก็ควรให้ความรัก  ความเมตตา  ดูแลทะนุถนอมอย่างพระยาภักดีเลี้ยงแม่ลออ

๖. การเลือกประกอบอาชีพที่สุจริต และมีความซื่อส้ตย์ในหน้าที่ของตน  ไม่คดโกง  ไม่โลภ

๗. ไม่ดื่มสุราและไม่ยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติดทุกชนิด เพราะสารเสพติดทำลายทั้งสติปัญญาและสุขภาพและอนาคต



    


วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2565

กาพย์ฉบัง ๑๖

    ตัวละครจากวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ นั้นมีมากมายและเป็นตัวละครที่มีลักษณะโดดเด่น   วันนี้มาลองเล่นเกมทายชื่อตัวละครจากวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์กันดีกว่าค่ะ  อาจจะนำไปปรับเป็นเกม ๒๐ คำถาม แล้วกำหนดคะแนนในแต่ละบทก็ได้ค่ะ  

        ปริศนาทายชื่อตัวละครนี้ แต่งด้วยกาพย์ฉบัง ๑๖  ซึ่งกาพย์ฉบัง ๑๖ จำนวน ๑ บท จะมีอยู่ ๓ วรรค  โดย วรรคที่ ๑  มีจำนวน  ๖ คำ   วรรคที่ ๒  มีจำนวน  ๔  คำ  และวรรคที่ ๓  มีจำนวน  ๖ คำ    กาพย์ฉบัง ๑๖ มีสัมผัสบังคับ คือ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑  สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒   ส่วนคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ จะสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ ในบทต่อไป  ซึ่งเราเรียกว่า "สัมผัสระหว่างบท"  นั่นเอง

               เรามาดูผังของกาพย์ฉบัง ๑๖ กันค่ะ



        เรามาทายว่าตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์ เป็นใคร  ซึ่งสามารถนำไปใช้ให้เด็ก ๆ ได้ทายเป็นการนำเข้าสู่บทเรียนก่อนเรียนเรื่อง รามเกียรติ์ได้นะคะ   มาดูกันเลยค่ะ


๑.        ฉันเป็นวานรสีขาว                        เสน่ห์แพรวพราว

    มีฤทธิ์ทุกคนเกรงขาม

            ไมยราพให้ฉันเฝ้ายาม                ในสระบัวงาม

    ด้วยฉันมีฤทธิ์เหลือหลาย

            ไมยราพรักเหมือนบุตรชาย        ไม่คิดทำลาย

    รับฉันเป็นบุตรบุญธรรม

            ฉันมีร่างกายกำยำ                        ทุกคนจดจำ

    เพราะฉันมีหางเหมือนปลา

            หนุมานนั้นคือบิดา                        สุพรรณมัจฉา

    นางเป็นมารดาฉันเอง

            ตัวฉันไม่เคยอวดเบ่ง                    แม้ฉันจะเก่ง

    แต่ก็ไม่รังแกใคร

            ตัวฉันนั้นชื่ออะไร                        ทายถูกกันไหม

    รีบทายกันมาเร็วพลัน


๒.         ฉันเป็นวานรมีฤทธิ์                    บุตรพระอาทิตย์

    กับนางกาลอัจนา

            ตัวฉันมีความหาญกล้า               ฤทธิ์เดชเดชา

    ผิวกายนั้นเป็นสีแดง

            ร่างกายกำยำแข็งแรง                 พลังกล้าแกร่ง

    สติปัญญาเฉียบคม                    

            เหล่าทหารต่างก็นิยม                    พระรามชื่นชม

    ให้ตามไปปราบทศกัณฐ์

            หนุมานเป็นหลานของฉัน                อีกพาลีนั้น

    เขาเป็นพี่ชายฉันเอง

            ช่วยกันตอบมาคนเก่ง                     ทุกคนอย่าเกร็ง           

    ตอบทีว่าฉันคือใคร


๓.         ชาติก่อนคือนางกบน้อย                ตัวกระจ้อยร่อย

    สละชีพเพื่อทำความดี

            สิ้นชีพเพราะพิษนาคี                        แต่เหล่าฤๅษี

    ช่วยชุบชีวีขึ้นมา

            เป็นหญิงสาวสวยโสภา                    ไปเป็นนางฟ้า

    รับใช้อุมาเทวี    

            ทศกัณฐ์ขอเป็นมเหสี                        แต่ถูกพาลี

    ชิงตัวนางไปเชยชม

            พาลีทำไม่เหมาะสม                            ทศกัณฐ์โศกตรม

    พาลีจึงคืนตัวนาง

            ทศกัณฐ์ได้นางเคียงข้าง                    ร่วมกันสรรค์สร้าง

    ครองกรุงลงการ่วมกัน

            ช่วยกันคิดทายเร็วพลัน                       ว่าตัวฉันนั้น

    เป็นใครในรามเกียรติ์


        วันนี้นำตัวอย่างมาเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานต่อไปค่ะ   ผู้อ่านสามารถนำคำประพันธ์ประเภทอื่น มาแต่งเป็นปริศนาทายชื่อตัวละครในเรื่องต่าง ๆ

        ใครทราบคำตอบแล้ว  ส่งคำตอบมาได้เลยจ้า...