วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ความเชื่อเรื่องผีปอบในปัจจุบัน

       "สิ่งที่มองไม่เห็น  ใช่ว่าจะไม่มี"                    

     หลาย ๆ คนคงจะเคยได้ยินประโยคนี้กันมาบ้างแล้ว  ส่วนใหญ่จะเป็นความเชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น เรื่องวิญญาณ  เรื่องไสยศาสตร์  ซึ่งความเชือเรื่องนี้ผูกพันกับชีวิตคนไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

    ในสังคมเมือง ความเชื่อเหล่านี้อาจจะไม่ค่อยพบมากเท่าใดนัก  แต่สำหรับสังคมชนบท ความเชื่อเหล่านี้ก็ยังหยั่งรากลึกอยู่ในใจของหลาย ๆ คน 

   เราเป็นคนหนึ่งที่ยังมีความเชื่อในเรื่องวิญญาณ  แม้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แม้ว่ากาลเวลาจะผันเปลี่ยนไปนานเพียงใดก็ตาม  แต่ความเชื่อนี้ก็ยังคงอยู่และยังคงได้รับการบอกเล่าสืบต่อกันมาเรื่อย ๆ 

    เราเป็นคนต่างจังหวัดและได้มาสร้างครอบครัวอยู่ในภาคอีสาน และได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับวิญญาณผีปอบ และในหมู่บ้านที่เราอาศัยอยู่นั้น ก็มีคนที่มีเรียนไสยศาสตร์ คาถาอาคม หรือทำเสน่ห์ให้คนรักคนหลง บางคนก็เลี้ยงวิญญาณปอบเอาไว้ ถ้ารักษาตามคำครูอาจารย์ไว้ไม่ได้  วิญญาณนั้นก็จะเข้าตัวผู้ที่เรียนวิชา ทำให้เขากลายเป็นปอบ  แล้ววิญญาณก็จะบังคับให้คนทำอย่างที่วิญญาณนั้นต้องการ โดยคนที่มีวิญญาณเหล่านี้อยู่ด้วย ก็จะมีการสร้างเพิงเล็ก ๆ ไว้เพื่อให้วิญญาณเหล่านี้ได้พักอาศัยและก็มักจะมีของเซ่นไหว้อยู่เสมอ

    ในวันหนึ่งในฤดูหนาว เราได้ยินเสียงกลองและเสียงแคนเป็นจังหวะสนุก ๆ ลอยตามลมมา  คนที่บ้านบอกว่า เขากำลังเล่นแถนกัน  อยากไปดูไหมล่ะ  (แถน ก็คือดวงวิญญาณ) แต่ว่า..ต้องแขวนพระไปด้วยนะ เพราะไม่รู้ว่าดวงชะตาเรากับแถนในงานจะมีคลื่นตรงกันไหม  กันไว้ดีกว่า

    เราคนวันเสาร์อยู่แล้ว  เรื่องแบบนี้มีหรือจะพลาด  เราก็ได้ไปดูเขาเล่นแถนกันที่ในหมู่บ้าน  พอไปถึงในงาน ก็พบผู้หญิง  ผู้ชายหลายคน กำลังฟ้อนรำกันตามจังหวะกลองอย่างสนุกสนาน ซึ่งเครื่องดนตรีที่ใช้ก็มีแค่ แคน และกลองเท่านั้น โดยเจ้าภาพก็จะจ้างหมอแคนมาเป่าแคนให้ร่างทรงของแถนเหล่านั้นฟ้อนรำตั้งแต่หัวค่ำไปจนถึงเช้าวันใหม่ 

    บริเวณที่จัดพิธี ก็จะมีเครื่องบูชาแถน  มีพวงมาลัยดอกไม้ตกแต่งอย่างสวยงาม มีคนไปร่วมชมเยอะทีเดียว ก็คงเป็นคนที่อยากรู้อยากเห็นเหมือนเรานั่นแหละ เพราะกิจกรรมนี้ไม่ได้มีให้เห็นบ่อย ๆ เพราะในการจัดงานแต่ละครั้ง เจ้าภาพก็ต้องลงทุนไปพอสมควร ทั้งต้องจ้างหมอแคน  ต้องจัดเตรียมสถานที่  อาหารเลี้ยงร่างทรงแถนที่มาร่วมงาน

    สักพักหนึ่ง ก็มีร่างทรงแถนมาเพิ่ม เขาก็มานั่งพนมมือแล้วคนที่อยู่ก่อนหน้านั้นก็มาร่ายคาถาอันเชิญดวงวิญญาณเข้าสิงในตัวของคนที่มาใหม่  นั่งต่อไปสักพัก  คนที่มาใหม่ก็เริ่มตัวสั่น และสั่นรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ รอจนกระทั่งมีวิญญาณเข้ามาสิงในตัวเขาแล้ว  ทุกคนที่อยู่รอบข้างก็ถามข้อมูลเบื้องต้นของดวงวิญญาณนั้น แล้วจึงชวนกันออกไปฟ้อนรำอย่างมีความสุข ท่ามกลางเสียงเชียร์ของผู้ชมที่อยู่รอบ ๆ เป็นบรรยากาศที่คึกคักพอสมควร

    ในตอนนั้น เรารู้สึกแอบกลัวอยู่ เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ความแปลกมันอยู่ตรงที่เราเห็นยายคนหนึ่ง ซึ่งปกติแกเดินหลังค่อมและต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัวเวลาเดินตลอด  แต่หลังจากที่เชิญวิญญาณเข้าในร่างแล้ว  ยายแกสามารถเดินหลังตรงและไปฟ้อนรำกับเพื่อน ๆ อย่างมีความสุข  และพออันเชิญแถนออกจากร่างของยายคนนั้นแล้ว  แกก็กลับมาเดินหลังค่อมเหมือนเดิม  เราก็ทึ่งมาก คิดเลยว่า "สิ่งที่ไม่เห็น ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มี"

    กิจกรรมรำของบรรดาแถนก็ดำเนินไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเช้าวันใหม่  พวกเขาก็พากันไปเล่นน้ำที่อ่างเก็บน้ำในหมู่บ้าน  จากนั้นก็อันเชิญดวงวิญญาณเหล่านั้นกลับไปที่เดิมของเขา แล้วกิจกรรมก็จบลงอย่างสมบูรณ์

    เรายังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เราเจอมากับตัวเองเลย  ช่วงที่เราตั้งท้องลูกคนแรกจนกระทั่งวันที่ใกล้จะคลอด  ในวันนั้นเราก็ไปทำงานตามปกติ  กลับมาถึงบ้าน ย่าเล่าให้ฟังว่า มียายแก่คนหนึ่งเขาแวะมาทักทาย  มาคุยเล่นอยู่ตลอดช่วงบ่ายเลย ทั้ง ๆ ที่ยายคนนี้ไม่เคยเข้ามาบ้านเราเลย แล้วเราก็ไม่ได้รู้จักกับแกด้วย  

    ในตอนนั้นเราก็ไม่ได้คิดอะไร  แต่พอช่วงประมาณ สามทุ่มเท่านั้นแหละ เราก็ลงไปปิดรั้วบ้าน แล้วขึ้นมาบนบ้าน  เท่านั้นแหละ  น้องหมาที่เลี้ยงไว้ก็จ้องไปที่ถนนหน้าบ้านแล้วก็เห่าเสียงดังมาก เหมือนกับว่ามีอะไรอยู่ตรงหน้าบ้าน  แล้วน้องก็เห่านานมาก  นานจนเราทนไม่ไหว  เราก็ไปดูที่หน้าต่าง ก็มองไม่เห็นอะไรเลย  แต่น้องหมาก็ยังไม่หยุดเห่า  คนในบ้านก็เลยคุยกันว่า น่าจะเป็นผีปอบมาตามกลิ่นเลือด เพราะว่าวันพรุ่งนี้จะครบกำหนดคลอดแล้ว  ตอนบ่ายก็คงจะมาดูลาดเลาเอาไว้ก่อน

    โชคดีที่ภูมิบ้านเราแข็ง สิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ ก็เลยเข้ามาทำร้ายคนในบ้านไม่ได้ ทำให้เราเดินทางไปคลอดในเมืองได้อย่างปลอดภัย  

    หลังจากนั้นเรากลับมาบ้านพร้อมลูกน้อย ตั้งแต่วันนั้น ก็ยังไม่เคยเห็นยายคนนั้นแกมาที่บ้านเราอีกเลย  

    นี่แหละเป็นประสบการณ์ที่เราประสบด้วยตัวเอง แม้ว่าจะมองไม่เห็น แต่ก็ระวังไว้ก็ดี เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถสืบทอดกันได้ตามสายเลือด ลูกหลาน ถ้าคนที่จิตใจไม่เข้มแข็ง ก็อาจจะถูกสิ่งเหล่านี้ครอบงำได้

    หมั่นสวดมนต์ภาวนา  บุญกุศลจะได้คุ้มครองเราให้รอดพ้นจากภัยอันตรายที่เรามองไม่เห็นนะทุกคน    

    "ไม่เชื่อ  แต่อย่าลบหลู่"



วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ณ หาดทรายชายทะเลแห่งหนึ่ง (ชิต บุรทัต)

     วันนี้ไปค้นหนังสือเก่า ๆ ก็ไปเจอหนังสือเรียนภาษาไทย ม.๓  ที่เราเคยเรียนสมัยก่อน  แล้วเราชอบเรื่องนี้มาก ๆ เลย    "ณ หาดทรายชายทะเลแห่งหนึ่ง"  ผลงานของ นายชิต  บุรทัต    ซึ่งแต่งโดยใช้คำประพันธ์ประเภท อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑  ซึ่งฉันท์ชนิดนี้คล้ายกับกาพย์ยานี ๑๑  ต่างกันที่ อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑  มีบังคับ ครุ  ลหุ  เท่านั้น    ส่วนจำนวนคำในแต่ละวรรค จะมีเท่ากันกับกาพย์ยานี ๑๑ คือ วรรคหน้ามี ๕ คำ และวรรคหลัง มี ๖  คำ  

       บางคนอาจจะสงสัยว่า  ครุ  ลหุ  เป็นอย่างไร  มาดูกันค่ะ

       คำประพันธ์ประเภทฉันท์ทุกชนิด จะมีการบังคับคำ ครุ  และ  ลหุ  ซึ่งเป็นคำที่บอกลักษณะของเสียงคำหรือพยางค์  มีส่วนสำคัญมาก สำหรับการแต่งคำประพันธ์ประเภทฉันท์

       คำครุ  (คำ คะ-รุ) คือ  พยางค์ที่ออกเสียงหนัก   มีวิธีการสังเกต ดังนี้

            ๑. เป็นพยางค์ที่มีมาตราตัวสะกดในทุกมาตรา  (มาตราแม่  กก   กบ   กด   กน    กม   เกย   เกอว   และ แม่กง)

            ๒. เป็นพยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงยาวเท่านั้น  ไม่มีตัวสะกดก็ได้  เช่น  นาที   เวลา

            ๓. เป็นพยางค์ที่ประสมด้วย  อำ   ไอ   ใอ   เอา   เพราะสระเหล่านี้ออกเสียงเหมือนมีตัวสะกด คือ   อำ   (ออกเสียงเหมือนมี  ม  สะกด)      ไอ   ใอ   (ออกเสียงเหมือนมี  ย   สะกด)      เอา  (ออกเสียงเหมือนมี  ว   สะกด)  จึงนับเป็นคำครุเช่นกัน

        คำลหุ  (คำ ละ-หุ) คือ พยางค์ที่ออกเสียงเบา   มีวิธีการสังเกต  ดังนี้

            ๑. เป็นพยางค์ที่ไม่มีเสียงพยัญชนะสะกด

            ๒. เป็นพยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นเท่านั้น  เช่น  และ   ประ   ติ    ผิ  ศศิ

            ๓. เป็น พยัญชนะตัวเดียว  เช่น   บ   บ่    ก็    ณ    ธ   เพราะเป็นพยางค์ที่ออกเสียงสั้น และไม่มีเสียงพยัญชนะสะกด

    

            สำหรับเนื้อเรื่อง  กวีได้พรรณนาธรรมชาติชายทะเลยามเย็น และแสดงรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ เช่น ท้องฟ้า  แมกไม้   นก   พื้นน้ำ  คลื่นลม  ฯลฯ  ด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ  ชวนให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการตามไปด้วย  

            นอกจากนี้กวียังได้ฝากให้ชาวไทยได้ร่วมกันดูแลทะเลอันเป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่งของเมืองไทยเพราะเป็นแหล่งเลี้ยงชีวิตคนไทยและผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ สมควรที่ชาวไทยจะพิทักษ์รักษาไว้ชั่วนิรันดร์

          มาลองอ่านกันนะคะ


ณ  หาดทรายชายทะเลแห่งหนึ่ง

ผู้แต่ง  :  นายชิต    บุรทัต

ลักษณะคำประพันธ์ :  อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑


            สายัณห์ตะวันยาม                   ขณะข้ามทิฆัมพร

เข้าภาคนภาตอน                                ทิศะตกก็รำไร

            รอนรอนและอ่อนแสง             นภะแดงสิแปลงไป

เป็นครามอร่ามใส                               สุภะสดพิสุทธ์สี

            เรื่อเรื่อ ณ เมื่อรัต-                   ติจะผลัดก็พลันมี

มืดมามิช้าที                                        ศศิธรจะจรแทน

            ริวริวระริ้วเรื่อย                        ระยะเฉื่อยฉะฉิวแสน

เย็นกายสบายแดน                             มนะด้วยระรวยลม

            ริกริกกระดิกทุก                      ทุมะรุกข์ระเริงรมย์

ใบก้านตระการชม                               พิศะช่อลออครัน

            ไรไรไสวร่อน                          จระว่อนวิหคพรรณ

เหนือพฤกษะไพรผัน                          มุขะเพื่อจะเมือรัง

            ครืนครืนคะครื้นครั่น                ชละลั่นสนั่นดัง

โดยทางทะเลฟัง                                 สรคลื่นคะเครงโครม

            ลิ่วลิ่วละลอกปราด                   ประทะหาดและสาดโซม    (ปะทะ เข้าใจว่ากวีต้องการเล่นเสียง ปร)

ซัดทอยทยอยโถม                               ทะลุฝั่งกระทั่งถึง

            แท้ธรรมชาติงาม                      พิศยามจะย่ำพึง

เพ่งภาพผิคำนึง                                    ละก็น่านิยมตาม

            ตูยืน  ณ  พื้นทราย                    เฉพาะชายทะเลงาม

ชมเพลินก็พลันความ                            ตริตระหนักประจักษ์มา

            เมื่อมองกะคลองเนตร               พิเคราะห์เขตอาณา

ของไทยสิไพศา-                                   ลยะรอบประกอบชล

            โน่นโน่นแน่ะยาวกว้าง               ณ  ระหว่างทะเลวน

น้ำเชี่ยวและเขียวกล                              กะจะดำแสดงสี

            นั่นนั่นแน่ะบอกบ่ง                      โป๊ะประมงประมาณมี

ดื่นดา  ณ  อาชี-                                      วะเพราะปลาแหละอาจิณ

            เรือใบคระไลคล่อง                      ละเลาะล่องชะลอสินธุ์

ไปมาและหากิน                                      กิจะเกี่ยวกะมัจฉา

            ใครใครผิไม่นึก                           คติลึกละเอียดมา

พบเข้าก็เปล่าตา                                    จะมิติดมิผิดผัน

            เห็นภาพทะเลแผน                     ดุจะแผ่นอุทกอัน

ปราศฝั่ง บ ใฝ่ฝัน                                    บ พิจารณาไกล

            เห็นภาพพณิชย์กรรม                  กลธรรมดาไป

ตามถิ่นและทางใคร                                จะถนัดสมรรถทำ

            หากใช้พินิจชอบ                         วิเคราะห์รอบจะครอบงำ

นึกถึงประเทศนำ                                     นยะแน่ว ณ  แนวหมาย

            โลกเราสิเข้ายุท-                         ธะมิหยุดมิหย่อนวาย

บุคคลและแคว้นหลาย                             ตะละล้วนจะป่วนหัน

            หาที่กระทำกิน                             และถวิลจะแย่งกัน

ทุกยุคและทุกวัน                                     ผิวิจารณ์จะตื่นตน

            ว่าอ้าผไทแผ่น                             ภพะแดนอุทกชล

ทั้งใหญ่และกว้างยล                                เฉพาะเนตรถนัดเห็น

            ของไทยนะ- ของไทย                  และก็ไทยยนะ-ไทยเป็น

เจ้าของและบำเพ็ญ                                  จะพิทักษ์จะรักษา

            ในถิ่นอุทกนั้น                                สิอนันตบรรดา

สินธนจะคณนา                                         บ มิสุดอนุสสรณ์

            แผ่นน้ำ ณ เบื้องหน้า                    อุปมากะอากร

เกิดเทิดสถาวร                                         ชิวะเรานิรันดร์แล

                        *************************



               


วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ข้อสอบ คำทับศัพท์ และ คำศัพท์บัญญัติ

        หากกล่าวถึง เรื่อง คำทับศัพท์  หลาย ๆ คนก็มักจะเห็น คำศัพท์บัญญัติ พ่วงมาด้วย   ดังนั้น วันนี้เรามาทำความรู้จักกับ สองคำนี้ ตามสไตล์ครูมยุรา เลยค่ะ

    คำทับศัพท์ คือ คำที่มีการถอดเสียงจากภาษาต่างประเทศมาเป็นตัวอักษรของไทย เพื่อให้อ่านออกเสียงให้ใกล้เคียงกับคำศัพท์เดิมมากที่สุด 

   เช่น  cake   เขียนว่า  เค้ก                      football     เขียนว่า   ฟุตบอล

   からおけ  [kara oke])   เขียนว่า  คาราโอเกะ    

    คำศัพท์บัญญัติ  คือ คำที่กำหนดขึ้นใช้แทนศัพท์ภาษาอังกฤษ เพื่อให้คนทั่วประเทศใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน  อาจใช้คำยืมจากภาษาบาลี  สันสกฤต ก็ได้ 

    คำศัพท์บัญญัติ อาจนำมาจากความหมายของคำศัพท์นั้น ๆ หรือ อาจสร้างขึ้นใหม่ก็ได้

 เช่น   สัมมนา   มาจากคำภาษาบาลี สมาสกัน คือ สํ (รวม) + มนา (ใจ)  = รวมใจ                       มาจากคำภาษาอังกฤษว่า seminar

เช่น สุขภาพ  เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า health

       ตลาดมืด  เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า  black   market

............................................................

        เราทราบหลักการสังเกตความแตกต่างของคำทับศัพท์ กับ คำศัพท์บัญญัติกันแล้ว มาลองทำข้อสอบที่รวบรวมมาจากข้อสอบโอเน็ตกันเลยนะคะ

ข้อสอบ คำทับศัพท์

๑.ข้อใดไม่จำเป็นต้องใช้คำทับศัพท์ (๙๑๒๕๖๐)

    ๑.คุณหมอให้กินแอสไพรินแก้ไข้

    ๒.เขาชอบสตรอเบอร์รีชีสเค้กมาก

    ๓.พืชใช้คลอโรฟิลล์ในการสังเคราะห์แสง

    ๔.ปัจจุบันนี้คนมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันมากขึ้น


๒..ข้อใดจำเป็นต้องใช้คำทับศัพท์  (๙๑๒๕๖๓)

    ๑.ไฮโซหนุ่มมีปัญหาเรื่องชู้สาวและทำร้ายดาราสาวคนสนิท

    ๒.นักวิทยาศาสตร์ค้นพบฟอสซิลยุคจูแรสซิกอายุหลายล้านปี

    ๓.นักท่องเที่ยวควรมีลิสต์รายการของใช้จำเป็นและแพลนการเดินทาง

    ๔.การระบาดของโรคปอดอักเสบทำให้งานปาร์ตี้หลายงานต้องยกเลิก

 

๓.ข้อใดจำเป็นต้องใช้คำทับศัพท์ (๙๑๒๕๖๒)

    ๑.กระแสเกมออนไลน์กำลังมาแรงและทำเงินได้มหาศาล

    ๒.การนำเสนอข้อมูลในสื่อต่าง ๆ ผู้ใช้สื่อจำเป็นต้องชัวร์ก่อนแชร์         

    ๓.พิธีกรรายการทีวีถูกปลดจากรายการเนื่องจากพูดจาไม่เหมาะสม

    ๔.เมื่อเราเดินทางไปต่างประเทศ จำเป็นต้องใช้พาสปอร์ตเพื่อแสดงตน

 

๔.ข้อความ ๒ ข้อใดไม่จำเป็นต้องใช้คำทับศัพท์  (๙๑๒๕๖๑)

    ๑.เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทสำคัญต่อชีวิต

    ๒.ธุรกิจเพื่อสุขภาพเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงในปีนี้

    ๓.อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ที่ใหญ่ที่สุด

    ๔.ลูกค้าส่วนใหญ่นิยมซื้อเสื้อผ้าที่มีสไตล์สวยหรูทันสมัย

    ๕.การเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลช่วยให้ประหยัดพื้นที่ได้


เรื่อง ศัพท์บัญญัติ

๑.ข้อใดมีศัพท์บัญญัติ (๙๑๒๕๖๒)

    ๑.นักเรียนในแถบเอเชียมีความเครียดจากการสอบแข่งขันมาก

    ๒.ข้อมูลสารสนเทศในยุคปัจจุบันช่วยให้ชีวิตของเราสะดวกสบาย

    ๓.ผู้ที่ต้องการจะไปเรียนต่อต่างประเทศต้องใช้ผลการสอบโทเฟล

    ๔.นักการเมืองมีแฟนคลับคอยให้กำลังใจไม่ต่างกับนักร้องนักแสดง

 

๒.ข้อความ ๒ ข้อใดมีทั้งคำทับศัพท์และคำศัพท์บัญญัติ  (๙๑๒๕๖๑)

    ๑.ตรีโกณมิติเป็นสาขาหนึ่งของวิชาคณิตศาสตร์

    ๒.ขยะพลาสติกมีส่วนทำลายสมดุลของระบบนิเวศ

    ๓.ตำรวจบุกค้นคลินิกศัลยกรรมความงามแห่งหนึ่ง

    ๔.กระทรวงศึกษาธิการจัดอภิปรายเรื่องปัญหาวัยรุ่น

    ๕.ครูทำวีดิทัศน์ประกอบการสอนวิชาประวัติศาสตร์

 

เฉลย  ข้อสอบเรื่อง คำทับศัพท์

๑.ข้อใดไม่จำเป็นต้องใช้คำทับศัพท์ (๙๑๒๕๖๐)

ตอบข้อ ๔  ปัจจุบันนี้คนมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันมากขึ้น

        คำว่า ไลฟ์สไตล์ สามารถใช้คำว่า รูปแบบการใช้ชีวิต  ส่วนข้ออื่น ๆ ไม่มีคำศัพท์บัญญัติใช้ จึงจำเป็นต้องใช้คำทับศัพท์


        ส่วนข้อ ๑  คุณหมอให้กินแอสไพรินแก้ไข้   คำว่า "แอสไพริน" ยังไม่มีศัพท์บัญญัติใช้

              ข้อ ๒.เขาชอบสตรอเบอร์รีชีสเค้กมาก   คำว่า "สตรอเบอร์รีชีสเค้ก" ยังไม่มีศัพท์บัญญัติใช้

              ข้อ ๓.พืชใช้คลอโรฟิลล์ในการสังเคราะห์แสง  คำว่า "คลอโรฟิลล์" ยังไม่มีศัพท์บัญญัติใช้


๒..ข้อใดจำเป็นต้องใช้คำทับศัพท์  (๙๑๒๕๖๓)

ตอบข้อ ๒   นักวิทยาศาสตร์ค้นพบฟอสซิลยุคจูแรสซิกอายุหลายล้านปี

        เพราะคำว่า จูแรสซิก  เป็นชื่อเรียกยุคหนึ่งทางธรณีของโลก  ยังไม่มีคำศัพท์บัญญัติใช้                        ส่วนคำว่า "ฟอสซิล"   มีศัพท์บัญญัติ คือ ซากดึกดำบรรพ์


    ส่วนข้อ ๑ ไฮโซหนุ่มมีปัญหาเรื่องชู้สาวและทำร้ายดาราสาวคนสนิท

                     คำว่า "ไฮโซ" มีศัพท์บัญญัติ คือ คนชั้นสูง  พวกผู้ดีมีตระกูล  สังคมชั้นสูง      

          ข้อ ๓.นักท่องเที่ยวควรมีลิสต์รายการของใช้จำเป็นและแพลนการเดินทาง

                     คำว่า "ลิสต์"  มีศัพท์บัญญัติ คือ บัญชี  รายชื่อ  รายการข้อมูล

                    คำว่า "แพลน"  มีศัพท์บัญญัติ  คือ การวางแผน    แผนการ    ออกแบบ

          ข้อ ๔.การระบาดของโรคปอดอักเสบทำให้งานปาร์ตี้หลายงานต้องยกเลิก

                    คำว่า "ปาร์ตี้" มีศัพท์บัญญัติ คือ งานเลี้ยง   งานสังสรรค์


๓.ข้อใดจำเป็นต้องใช้คำทับศัพท์ (๙๑๒๕๖๒)

ตอบข้อ ๑   กระแสเกมออนไลน์กำลังมาแรงและทำเงินได้มหาศาล

     เพราะคำว่า  "เกม" หมายถึง การแข่งขันทีมีกติกากำหนด

                      คำว่า "ออนไลน์"  หมายถึง ติดต่อสื่อสารกับคอมพิวเตอร์โดยตรงและพร้อมใช้งาน


     ส่วนข้อ ๒   การนำเสนอข้อมูลในสื่อต่าง ๆ ผู้ใช้สื่อจำเป็นต้องชัวร์ก่อนแชร์      

                    คำว่า "ชัวร์" มีศัพท์บัญญัติ คือ แน่นอน / แน่ใจ / มั่นใจ

                    คำว่า "แชร์" มีศัพท์บัญญัติ คือ การแบ่งปัน / เล่าสู่กันฟัง

             ข้อ ๓.พิธีกรรายการทีวีถูกปลดจากรายการเนื่องจากพูดจาไม่เหมาะสม

                    คำว่า "ทีวี" มีศัพท์บัญญัติ คือ โทรทัศน์

            ข้อ ๔.เมื่อเราเดินทางไปต่างประเทศ จำเป็นต้องใช้พาสปอร์ตเพื่อแสดงตน

                คำว่า "พาสปอร์ต" มีศัพท์บัญญัติ คือ หนังสือเดินทาง


๔.ข้อความ ๒ ข้อใดไม่จำเป็นต้องใช้คำทับศัพท์  (๙๑๒๕๖๑)

ตอบข้อ ๒  และ ข้อ ๔  ดังนี้

            ข้อ ๒.ธุรกิจเพื่อสุขภาพเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงในปีนี้

                    คำว่า "เทรนด์"  มีศัพท์บัญญัติ คือ สิ่งที่กำลังเป็นที่นิยม

            ข้อ ๔.ลูกค้าส่วนใหญ่นิยมซื้อเสื้อผ้าที่มีสไตล์สวยหรูทันสมัย

                    คำว่า "สไตล์"  มีศัพท์บัญญัติ คือ รูปแบบ  ลักษณะ


        ส่วนข้อ ๑.เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทสำคัญต่อชีวิต

              ข้อ ๓.อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ที่ใหญ่ที่สุด

              ข้อ ๕.การเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลช่วยให้ประหยัดพื้นที่ได้

คำว่า "เทคโนโลยี"  "อินเทอร์เน็ต" และ "ดิจิทัล"  ยังจำเป็นต้องใช้คำทับศัพท์


เฉลย  ข้อสอบเรื่อง ศัพท์บัญญัติ

๑.ข้อใดมีศัพท์บัญญัติ (๙๑๒๕๖๒)

ตอบข้อ ๒ ข้อมูลสารสนเทศในยุคปัจจุบันช่วยให้ชีวิตของเราสะดวกสบาย

            คำว่า "สารสนเทศ" เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า " information "


  ส่วนข้อ  ๑.นักเรียนในแถบเอเชียมีความเครียดจากการสอบแข่งขันมาก

         ข้อ ๓.ผู้ที่ต้องการจะไปเรียนต่อต่างประเทศต้องใช้ผลการสอบโทเฟล

         ข้อ ๔.นักการเมืองมีแฟนคลับคอยให้กำลังใจไม่ต่างกับนักร้องนักแสดง

       คำว่า "เอเชีย"  "โทเฟล" และ "แฟนคลับ"  เป็นคำที่ยังต้องใช้คำทับศัพท์


๒.ข้อความ ๒ ข้อใดมีทั้งคำทับศัพท์และคำศัพท์บัญญัติ  (๙๑๒๕๖๑)

ตอบ ข้อ ๒ และ ข้อ ๓  ดังนี้

        ข้อ ๒.ขยะพลาสติกมีส่วนทำลายสมดุลของระบบนิเวศ

  คำว่า "พลาสติก" เป็นคำทับศัพท์   ส่วน "ระบบนิเวศ" เป็นศัพท์บัญญัติของ "ecosystem"

        ข้อ ๓.ตำรวจบุกค้นคลินิกศัลยกรรมความงามแห่งหนึ่ง

  คำว่า "คลินิก" เป็นคำทับศัพท์  ส่วน "ศัลยกรรม" เป็นศัพท์บัญญัติของ "surgery"


    ส่วนข้อ ๑.ตรีโกณมิติเป็นสาขาหนึ่งของวิชาคณิตศาสตร์

                    คำว่า "ตรีโกณมิติ" เป็นศัพท์บัญญัติของ  "trigonometry"

                    คำว่า "คณิตศาสตร์" เป็นศัพท์บัญญัติของ  "mathematics"

          ข้อ ๔.กระทรวงศึกษาธิการจัดอภิปรายเรื่องปัญหาวัยรุ่น

                    คำว่า "กระทรวงศึกษาธิการ"  เป็นศัพท์บัญญัติของ  "Ministry  of Education"

                    คำว่า "อภิปราย"  เป็นศัพท์บัญญัติของ  "debate"

          ข้อ ๕.ครูทำวีดิทัศน์ประกอบการสอนวิชาประวัติศาสตร์

                    คำว่า "วีดิทัศน์"  เป็นศัพท์บัญญัติของ "video"

                    คำว่า "ประวัติศาสตร์"  เป็นศัพท์บัญญัติของ "history"


วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2565

สรุปย่อบทละครพูด เรื่อง เห็นแก่ลูก

    บทละครพูดเรื่อง เห็นแก่ลูก 

        เป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)  ซึ่งพระองค์ทรงใช้พระนามแฝงในการพระราชนิพนธ์ คือ พระขรรค์เพชร 

        บทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก เป็นบทละครพูดขนาดสั้น  มีความยาวเพียงองก์เดียว (ตอนเดียว) และมีฉากเดียว  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคิดเค้าโครงเรื่องขึ้นเอง มิได้ทรงแปลหรือดัดแปลงจากบทละครต่างประเทศ

        บทละครพูดเรื่อง เห็นแก่ลูก ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ  ๑๓ ภาษา ได้แก่ ภาษาเกาหลี   จีน   ญี่ปุ่น   นอร์เวย์   ฝรั่งเศส   มาเลย์    รัสเซีย    สเปน    สิงหล   อังกฤษ    อาหรับ    อินโดนีเซีย    และฮินดี   เนื่องในโอกาสเฉลิมพระเกียรติในวาระฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ ๑๐๐  ปี ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง

       บทละครพูด คือ บทละครที่ใช้สำหรับการแสดงละครที่แสดงโดยให้ตัวละครสนทนาโต้ตอบกันเหมือนในชีวิตจริง  ไม่มีดนตรี  การรำ  หรือการขับร้องประสม  

        บทละครพูด เริ่มมีในประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) แต่ได้รับความนิยมแพร่หลายในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)  เนื่องจากพระองค์โปรดการละครเป็นอย่างยิ่ง

        เรื่องย่อ บทละครพูด เรื่อง เห็นแก่ลูก

        ตัวละครเอกของเรื่อง คือ พระยาภักดีนฤนาถ   นายล้ำ  และแม่ลออ   ส่วนตัวประกอบ คือ อ้ายคำซึ่งเป็นบ่าวของพระยาภักดีนฤนาถ

        ฉากเริ่มต้นที่ห้องหนังสือในบ้านของพระยาภักดีนฤนาถ  จากบทสนทนาทำให้ทราบว่า พระยาภักดีและนายล้ำเคยเป็นเพื่อนกัน  ทั้งสองคนเคยเป็นเพื่อนรักกันมาก่อน  นายล้ำเคยรับราชการจนได้ตำแหน่งทิพเดชะ  แต่เป็นคนที่ดื่มเหล้าจัด   ส่วนพระยาภักดีนฤนาถ มีตำแหน่งเป็นหลวงกำธร   ทั้งสองคนเคยรักผู้หญิงคนเดียวกัน  คือ แม่นวล  

        นายล้ำได้แต่งงานกับแม่นวลและมีบุตรสาวคนหนึ่งชื่อ แม่ลออ  แต่นายล้ำต้องโทษจำคุก  ๑๐ ปี ฐานประพฤติทุจริต    ต่อมาแม่นวลได้ฝากแม่ลออซึ่งมีอายุได้ ๒ ปีไว้กับพระยาภักดีก่อนสิ้นใจเพราะมีชีวิตแต่งงานที่ไม่มีความสุข

        พระยาภักดีนฤนาถจึงได้อุปการะแม่ลออ โดยเลี้ยงดูและรักแม่ลออเหมือนลูกแท้ ๆ ของตน และบอกเธอว่า บิดามารดาที่เสียชีวิตไปแล้วนั้นเป็นคนดี

        เมื่อนายล้ำพ้นโทษ  และได้ออกมาค้าฝิ่นกับพ่อค้าชาวจีนสองคนคือ จีนกิม กับจีนเง็ก แต่ก็ถูกตำรวจจับ แต่เนื่องจากนายล้ำมีทนายคอยช่วยเหลือจึงไม่ได้ถูกจับไปด้วย  เมื่อนายล้ำหมดทางทำมาหากิน และได้ทราบข่าวว่า แม่ลออกำลังจะได้แต่งงานกับนายทองคำ บุตรของเจ้าคุณรณชิตผู้ร่ำรวย  นายล้ำจึงคิดจะมาพึ่งพาลูกสาว

         พระยาภักดีนฤนาถ เมื่อเห็นนายล้ำที่ไม่ได้พบกันมานาน ๑๕ ปี และทราบว่านายล้ำต้องการมาแสดงตัวว่าเป็นพ่อของแม่ลออ ก็รู้สึกไม่พอใจและเกรงว่าบุตรสาวจะต้องอับอายขายหน้าและครอบครัวของฝ่ายชายอาจไม่ยอมรับจึงเสนอเงินให้นายล้ำเพื่อให้กลับไป  

        นายล้ำแสดงความเห็นแก่ตัวโดยจะขอพบแม่ลออ  และเมื่อได้พบกันแล้ว  นายล้ำได้พูดคุยกับแม่ลออและพบว่าเธอชื่นชมบิดาที่แท้จริงว่าเป็นบุรุษผู้แสนดี  น่าเคารพเลื่อมใส โดยดูจากภาพถ่ายของนายล้ำที่อยู่ในห้องแม่นวล โดยไม่รู้ว่านายล้ำเป็นบิดาที่แท้จริงของตน

        จากการพูดคุยกับแม่ลออ  ทำให้ความรู้สึกของนายล้ำเปลี่ยนไป  นายล้ำเกิดความละอายใจและไม่เปิดเผยความจริง   เขาไม่อาจลบภาพพ่อที่แสนดีในใจของแม่ลออได้   ความเห็นแก่ตัวของนายล้ำจึงหมดไปและเปลี่ยนเป็นความรู้สึกที่เห็นแก่ลูกอย่างจริงใจ   เพื่อให้แม่ลออมีชีวิตที่มีความสุขต่อไป  

        ก่อนที่นายล้ำจะจากไปได้ฝากแหวนของแม่นวล วงหนึ่งให้พระยาภักดีนฤนาถมอบให้แก่แม่ลออ  เป็นของรับไหว้ในวันแต่งงานของแม่ลออ 

        พระยาภักดีนฤนาถได้มอบเงินจำนวนสี่ร้อยบาท พร้อมกับรูปถ่ายของแม่ลออ มอบให้นายล้ำและนายล้ำได้ให้คำมั่นสัญญากับพระยาภักดีนฤนาถว่าจะตั้งใจทำงานที่สุจริตอยู่ที่เมืองพิษณุโลกต่อไป...

        ข้อคิดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

๑. สถาบันครอบครัวมีความสำคัญต่อโครงสร้างสังคมไทย

๒.คนดีย่อมมีผู้นับถือ

๓.อย่าทำตนให้ตกต่ำเพราะการกระทำของตนเอง

๔.มนุษย์ทุกคน มีความรักลูกเสมอ (แม้ว่าคนที่เห็นแก่ตัวอย่างนายล้ำ สุดท้ายก็แสดงแก่นแท้ของหัวใจที่รักลูก  เห็นแก่ลูก  ยอมเสียสละเพื่อลูก)

๕. หาดกจะเลี้ยงดูผู้ใดก็ควรให้ความรัก  ความเมตตา  ดูแลทะนุถนอมอย่างพระยาภักดีเลี้ยงแม่ลออ

๖. การเลือกประกอบอาชีพที่สุจริต และมีความซื่อส้ตย์ในหน้าที่ของตน  ไม่คดโกง  ไม่โลภ

๗. ไม่ดื่มสุราและไม่ยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติดทุกชนิด เพราะสารเสพติดทำลายทั้งสติปัญญาและสุขภาพและอนาคต



    


วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2565

กาพย์ฉบัง ๑๖

    ตัวละครจากวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ นั้นมีมากมายและเป็นตัวละครที่มีลักษณะโดดเด่น   วันนี้มาลองเล่นเกมทายชื่อตัวละครจากวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์กันดีกว่าค่ะ  อาจจะนำไปปรับเป็นเกม ๒๐ คำถาม แล้วกำหนดคะแนนในแต่ละบทก็ได้ค่ะ  

        ปริศนาทายชื่อตัวละครนี้ แต่งด้วยกาพย์ฉบัง ๑๖  ซึ่งกาพย์ฉบัง ๑๖ จำนวน ๑ บท จะมีอยู่ ๓ วรรค  โดย วรรคที่ ๑  มีจำนวน  ๖ คำ   วรรคที่ ๒  มีจำนวน  ๔  คำ  และวรรคที่ ๓  มีจำนวน  ๖ คำ    กาพย์ฉบัง ๑๖ มีสัมผัสบังคับ คือ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑  สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒   ส่วนคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ จะสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ ในบทต่อไป  ซึ่งเราเรียกว่า "สัมผัสระหว่างบท"  นั่นเอง

               เรามาดูผังของกาพย์ฉบัง ๑๖ กันค่ะ



        เรามาทายว่าตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์ เป็นใคร  ซึ่งสามารถนำไปใช้ให้เด็ก ๆ ได้ทายเป็นการนำเข้าสู่บทเรียนก่อนเรียนเรื่อง รามเกียรติ์ได้นะคะ   มาดูกันเลยค่ะ


๑.        ฉันเป็นวานรสีขาว                        เสน่ห์แพรวพราว

    มีฤทธิ์ทุกคนเกรงขาม

            ไมยราพให้ฉันเฝ้ายาม                ในสระบัวงาม

    ด้วยฉันมีฤทธิ์เหลือหลาย

            ไมยราพรักเหมือนบุตรชาย        ไม่คิดทำลาย

    รับฉันเป็นบุตรบุญธรรม

            ฉันมีร่างกายกำยำ                        ทุกคนจดจำ

    เพราะฉันมีหางเหมือนปลา

            หนุมานนั้นคือบิดา                        สุพรรณมัจฉา

    นางเป็นมารดาฉันเอง

            ตัวฉันไม่เคยอวดเบ่ง                    แม้ฉันจะเก่ง

    แต่ก็ไม่รังแกใคร

            ตัวฉันนั้นชื่ออะไร                        ทายถูกกันไหม

    รีบทายกันมาเร็วพลัน


๒.         ฉันเป็นวานรมีฤทธิ์                    บุตรพระอาทิตย์

    กับนางกาลอัจนา

            ตัวฉันมีความหาญกล้า               ฤทธิ์เดชเดชา

    ผิวกายนั้นเป็นสีแดง

            ร่างกายกำยำแข็งแรง                 พลังกล้าแกร่ง

    สติปัญญาเฉียบคม                    

            เหล่าทหารต่างก็นิยม                    พระรามชื่นชม

    ให้ตามไปปราบทศกัณฐ์

            หนุมานเป็นหลานของฉัน                อีกพาลีนั้น

    เขาเป็นพี่ชายฉันเอง

            ช่วยกันตอบมาคนเก่ง                     ทุกคนอย่าเกร็ง           

    ตอบทีว่าฉันคือใคร


๓.         ชาติก่อนคือนางกบน้อย                ตัวกระจ้อยร่อย

    สละชีพเพื่อทำความดี

            สิ้นชีพเพราะพิษนาคี                        แต่เหล่าฤๅษี

    ช่วยชุบชีวีขึ้นมา

            เป็นหญิงสาวสวยโสภา                    ไปเป็นนางฟ้า

    รับใช้อุมาเทวี    

            ทศกัณฐ์ขอเป็นมเหสี                        แต่ถูกพาลี

    ชิงตัวนางไปเชยชม

            พาลีทำไม่เหมาะสม                            ทศกัณฐ์โศกตรม

    พาลีจึงคืนตัวนาง

            ทศกัณฐ์ได้นางเคียงข้าง                    ร่วมกันสรรค์สร้าง

    ครองกรุงลงการ่วมกัน

            ช่วยกันคิดทายเร็วพลัน                       ว่าตัวฉันนั้น

    เป็นใครในรามเกียรติ์


        วันนี้นำตัวอย่างมาเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานต่อไปค่ะ   ผู้อ่านสามารถนำคำประพันธ์ประเภทอื่น มาแต่งเป็นปริศนาทายชื่อตัวละครในเรื่องต่าง ๆ

        ใครทราบคำตอบแล้ว  ส่งคำตอบมาได้เลยจ้า...