วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เสียงในภาษา

ยังจำกันได้ไหมคะ...ว่าเสียงในภาษา หมายถึงอะไร 

        เสียงในภาษา หมายถึง เสียงที่มนุษย์เปล่งออกมาเพื่อสื่อความหมายระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เพื่อสนองความต้องการต่าง ๆ ของมนุษย์ เสียงในภาษาเกิดขึ้นได้เพราะเราใช้อวัยวะต่าง ๆ ตั้งแต่เหนือช่องท้องขึ้นมาจนถึงริมฝีปากและช่องจมูกให้ทำงานประสานกัน ทำให้เกิดเสียงขึ้น อวัยวะที่ทำให้เกิดเสียง ได้แก่ ปอด หลอดลม กล่องเสียง ซึ่งอยู่ในลำคอตรงลูกกระเดือก ต่อมาก็มีลิ้นไก่และส่วนต่าง ๆ ในช่องปาก ได้แก่ เพดาน ลิ้น ฟัน ปุ่มเหงือก และริมฝึปาก นอกจากนี้ จมูก ก็มีส่วนทำให้เกิดเสียงได้ด้วย และเมื่ออวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้ทำงานประสานกัน จึงทำให้เกิดเสียงขึ้น 

 เสียงในภาษา มี ๓ ชนิด คือ เสียงสระ เสียงพยัญชนะ และเสียงวรรณยุกต์ 

 ๑) เสียงสระ หรือเสียงแท้ หมายถึง เสียงที่เกิดขึ้นเพราะลมจากปอดผ่านหลอดลมและกล่องเสียงที่ลำคอออกมาพ้นช่องปาก หรือช่องจมูกโดยไม่ถูกสกัดกั้น ณ ที่ใดที่หนึ่งในช่องทางเดินของลมเลย ในขณะที่เราออกเสียงสระ สายเสียงที่อยู่ในกล่องเสียงจะปิดและเปิดอย่างรวดเร็ว สายเสียงจึงมีความสั่นสะเทือน เกิดความกังวานหรือความก้อง และออกเสียงได้ยาวนาน 

 ๒) เสียงพยัญชนะ หรือ เสียงแปร หมายถึง เสียงที่เกิดขึ้นได้เพราะมีลมออกจากปอด แต่ขณะที่ลมผ่านหลอดลมหรือออกมาทางช่องทางเดินของลม ลมจะถูกสกัดกั้น ณ ที่ใดที่หนึ่งตั้งแต่ในลำคอ ในช่องปาก หรือในช่องจมูก และลมอาจถูกสกัดกั้นไว้ทั้งหมด หรือถูกสกัดกั้นเป็นบางส่วน แล้วจึงผ่านออกมาภายนอก ทำให้เกิดเป็นเสียงพยัญชนะต่าง ๆ เสียงชนิดนี้ ได้แก่ เสียงที่อยู่ต้นพยางค์ 

 ๓) เสียงวรรณยุกต์ หรือ เสียงดนตรี หมายถึง เสียงที่มีระดับสูงต่ำ และได้ยินพร้อมกันกับเสียงสระ บางทีก็เสียงสูง บางทีก็เป็นเสียงต่ำ คำที่เปล่งออกมาทุกคำนั้น จะประกอบด้วยเสียงสระ เสียงพยัญชนะ และเสียงวรรณยุกต์ เสมอนะจ๊ะ