วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2567

นารายณ์สิบปาง

    หากกล่าวถึงเทพเจ้าในศาสนาฮินดู หลายคนต้องนึกถึงพระอิศวร พระพรหมและพระนารายณ์ และเทพองค์อื่น ๆ อีกมากมาย  แต่วันนี้เราจะพูดถึงพระนารายณ์กันค่ะ
      พระนารายณ์ หรือพระวิษณุ เป็นเทพที่มีบทบาทในการปราบสิ่งชั่วร้ายต่างๆ เพื่อให้โลกสุขสงบ ซึ่งในการปราบสิ่งชั่วร้ายนั้น พระนารายณ์จะแบ่งภาคอวตารมายังโลกมนุษย์
     การอวตาร คือ การแบ่งภาคมาเกิดในโลกมนุษย์ของเทพเจ้า โดยเทพจะแบ่งพลังงานส่วนหนึ่งลงมาเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์ เพื่อทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อโลกเดือดร้อนตามความเชื่อของศาสนาฮินดู
       การอวตารมาปราบยุคเข็ญของพระนารายณ์นั้น มีอยู่ 10 ปางด้วยกัน เรียกว่า ทศาวตาร หรือ  นารายณ์สิบปาง  ดังนี้    
     ปางที่ 1 มัตสยาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นปลาศะผะริ เพื่อฆ่าอสูรหัยครีพ ผู้ลักพระเวทของพระพรหม  แล้วปลาศะผะริก็ได้นำพระเวทมาคืนพระพรหม
     ปางที่ 2  กูรมาวตาร   เป็นการอวตารมาเป็นเต่าใหญ่ไปรองรับข้างใต้ภูเขามันทรที่เทวดาใช้กวนน้ำทิพย์ เพราะเกรงว่าเขามันทรจะเจาะโลกลึกจนโลกทลาย
     ปางที่ 3 วราหาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นหมูเพื่อปราบหิรัณตยักษ์ผู้ม้วนแผ่นดิน
     ปางที่ 4 นรสิงหาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นนรสิงห์เพื่อปราบหิรัณยกศิปุยักษ์ซึ่งแย่งสวรรค์ของพระอินทร์
     ปางที่ 5 วามนาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นพราหมณ์เตี้ย ทำอุบายแย่งโลกและสวรรค์จากท้าวพลีพญาแทตย์และมอบบาดาลให้แก่ท้าวพลีครอบครอง
     ปางที่ 6  ปรศุรามาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นพราหมณ์ชื่อ ราม (รามสูร)  เพื่อฆ่าอรชุน
     ปางที่ 7 รามจันทราวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นพระรามตามเรื่องรามเกียรติ์
     ปางที่ 8 กฤษณาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นพระกฤษณะ เพื่อปราบยักษ์พญากงส์ตามเรื่องมหาภารตยุทธ์
     ปางที่ 9 พุทธาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้า คือ พระสิทธัตถกุมาร
     ปางที่ 10 กัลกยาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นบุรุษผิวขาวที่ชื่อ กัลลี  เพื่อปราบกลียุคซึ่งจะมาถึงในอนาคต
      นี่คือปางทั้ง 10 ของพระนารายณ์ที่ได้อวตารลงมาปราบยุคเข็ญในโลกมนุษย์เพื่อให้โลกสวบสุขนั่นเอง....

วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2567

คำที่มีความหมายโดยตรงและความหมายโดยนัย

    คำที่เราใช้กันอยู่นั้น   มีหลายคำที่ไม่ได้มีแค่ความหมายเดียว  เราสามารถใช้ในความหมายอื่น นอกจากความหมายหลักก็ได้

     เรามาดูกันว่า ความหมายของคำ มีกี่แบบ  

แบบที่ 1 คำที่มีความหมายโดยตรง คือ คำที่มีความหมายตรงตามรูปคำ เป็นความหมายแรกที่ทุกคนรู้จัก เมื่อคำนั้นอยู่โดด ๆ ไม่มีคำแวดล้อม เป็นคำที่มีความหมายแรกในพจนานุกรม

เช่น  ลูกช้าง  หมายถึง  ลูกของช้าง

         เสือ    หมายถึง  เสือที่เป็นสัตว์

แบบที่ 2 คำที่มีความหมายโดยนัย คือ คำที่มีความหมายแฝงอยู่ ไม่ได้มีความหมายตรงตามรูปคำ  แต่ต้องใช้การตีความร่วมด้วย  มักมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ หรือการเปรียบเทียบ และพบในวรรณคดีและการนำเสนอข่าวสารค่อนข้างมาก

เช่น  ลูกช้าง  หมายถึง คำสรรพนามแทนตัวผู้พูด เมื่อขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์

         เสือ  หมายถึง  โจร  เช่น  เสือผาดปล้นหมู่บ้าน 

       เมื่อเราได้ฟังหรืออ่านข้อความต่าง ๆ แล้วเราต้องตีความอีกว่า คำที่ใช้ในข้อความนั้นหมายถึงอะไร  เราต้องพิจารณาจากคำข้างเคียงของคำศัพท์นั้น ๆ เราจึงจะเข้าใจความหมายของข้อความได้ เช่น

    - ฉันถูกเขาตบตาเรื่องนี้มานานแล้ว   วันนี้ตาสว่างเสียที

   หมายถึง  ฉันถูกเขาหลอกลวงเรื่องนี้มานานแล้ว  วันนี้รู้ความจริงเสียที

   ไม่ได้หมายความว่า ฉันถูกทำร้ายร่างกาย โดยการถูกตบตีที่ดวงตาเพราะเรื่องนี้ 

ตัวอย่างคำที่มี ทั้งความหมายโดยตรงและความหมายโดยนัย

คำ - ความหมายโดยตรง / โดยนัย

เทพ - เทวดา / เก่งมาก

เซียน - เทวดา (จีน) /เก่งมาก

รากหญ้า - รากต้นหญ้า / คนส่วนใหญ่ที่                                            ยากจน

ปูพรม - ปูพรมบนพื้น / กระจายกำลัง                               ค้นหาอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่

มือขวา - มือข้างขวา / คนสนิทของ              เจ้านาย สามารถทำงานแทนเจ้านายได้

ซองขาว - ซองสีขาว / ถูกไล่ออกจากงาน

หิน - ก้อนหิน / ยาก, หนัก

วันทอง - นางวันทองคือชื่อตัวละครจากเรื่องขุนช้างขุนแผน / หญิงที่มีสามีหลายคน หรือหญิงหลายใจ  มากรัก

ตีนแมว - เท้าของแมว / โจรย่องเบา

พ่อพระ - พ่อของพระ / ผู้ชายที่ใจดีมาก

งูเห่า - งูที่มีพิษร้ายแรง / คนที่เลี้ยงไม่เชื่อง มักทำร้ายคนที่ให้ความช่วยเหลือตัวเอง

      คำเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากอยากรู้ว่าคำนั้นมีความหมายโดยตรงหรือความหมายโดยนัย  ต้องอ่านทั้งข้อความแล้วค่อยตีความความหมายของคำนั้นนะคะ