วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

รสวรรณคดีไทย

            หลาย ๆ คนเมื่ออ่านเรื่องราวต่าง ๆ แล้วเกิดจินตภาพและมีอารมณ์ร่วมกับตัวละครนั้น ๆ นั่นเป็นเพราะว่า เราได้เข้าถึงรสในวรรณคดี  และทำให้เราอ่านเรื่องต่าง ๆ อย่างมีความสุขและเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่เราอ่าน

            รสในวรรณคดี แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ๑. รสวรรณคดีไทยซึ่งใช้แบบเดียวกับบาลี     ๒. รสวรรณคดีสันสกฤต  ซึ่งวันนี้เราจะพูดถึงประเภทที่ ๑  คือ รสวรรณคดีไทย ก่อนนะคะ  

            วันนี้มาดูกันว่า  "รสในวรรณคดี"  ที่พบได้ในเรื่องต่าง ๆ มีอะไรบ้าง  มาดูกันเลยค่ะ

๑. เสาวรจนี  (บทชมความงาม)  ใช้ชมความงามของธรรมชาติ  ต้วละคร  หรือสถานที่ต่าง ๆ  เช่น
               บทชมความงามของนางอัปสรซึ่งเป็นร่างแปลงของพระนารายณ์ เพื่อมาหลอกล่อให้ยักษ์นนทกหลงรัก ซึ่งความงามของนางนารายณ์แปลง งามยิ่งกว่าพระลักษมีชายาของพระนารายณ์และพระสุรัสวดีชายาของพระพรหม จึงทำให้นนทกหลงรักนางแปลงและอยากทำความรู้จักกับนาง

             "เหลือบเห็นสตรีวิไลลักษณ์                  พิศพักตร์ผ่องเพียงแขไข
        งามโอษฐ์งามแก้มงามจุไร                        งามนัยน์งามเนตรงามกร
        งามถันงามกรรณงามขนง                          งามองค์ยิ่งเทพอัปสร
        งามจริตกิริยางามงอน                               งามเอวงามอ่อนทั้งกายา
        ถึงโฉมองค์อัครลักษมี                               พระสุรัสวดีเสน่หา
        สิ้นทั้งไตรภพจบโลกา                              จะเอามาเปรียบไม่เทียบทัน
        ดูไหนก็เพลินจำเริญรัก                             ในองค์เยาวลักษณ์สาวสวรรค์
        ยิ่งพิศยิ่งคิดผูกพัน                                   ก็เดินกระชั้นเข้าไป  ฯ"

             นอกจากนี้พระเอกในวรรณคดีไทยหลาย ๆ เรื่อง ก็มีบทชมความงามกับเขาเหมือนกัน เช่น ความสง่างามของพระลอ จากเรื่องลิลิตพระลอ ดังนี้ค่ะ

           ประเสริฐสรรพสรรพางค์   แต่บาทางค์สุดเกล้า  พระเกศงามล้วนเท้า  พระบาทไท้งามสม  สรรพนา

           ๐        รอยรูปอินทร์หยาดฟ้า        มาอ่าองค์ในหล้า       แหล่งให้คนชม    แลฤา ฯ   
           ๐        พระองค์กลมกล้องแกล้ง    เอวอ่อนอรอรรแถ้ง  ถ้วนแห่งเจ้ากูงาม     บารนี ฯ
           ๐        โฉมผจญสามแผ่นแพ้        งามเลิศงามล้วนแล้้   รูปต้องติดใจ      บารนี ฯ
           ๐         ฦๅขจรในแหล่งหล้า          ทุกทั่วคนเที่ยวค้า   เล่าล้วนยอโฉม     ท่านแล ฯ
           ๐         เดือนจรัสโพยมแจ่มฟ้า      ผิบได้เห็นหน้า  ลอราชไซร้ดูเดือน      ดุจแล ฯ
           ๐        ตาเหมือนตามฤคมาศ         พิศคิ้วพระลอราช   ประดุจเกาทัณฑ์    ก่งนา ฯ
           ๐        พิศกรรณงามเพริศแพร้ว    กลกลีบบงกชแก้ว  อีกแก้มปรางทอง    เทียบนา ฯ
           ๐         ทำนองนาสิกไท้               คือเทพนฤมิตไว้   เปรียบด้วยขอกาม ฯ
           ๐         พระโอษฐ์งามยิ่งแต้ม      ศศิอยู่เยียวยะแย้ม  พระโอษฐ์โอ้งามตรู    บารนี ฯ

           เท่านี้ยังไม่พอค่ะ มีอีกนางหนึ่งที่กวีชมความงามของนางไว้ นั่นคือ นางประแดะ จากเรื่อง        ระเด่นลันได    มาดูกันค่ะว่า นางประแดะ จะงามขนาดไหนกัน

                    สูงระหงทรงเพรียวเรียวรูด              งามละม้ายคล้ายอูฐกะหลาป๋า
          พิศแต่หัวตลอดเท้าขาวแต่ตา                    ทั้งสองแก้มกัลยาดังลูกยอ
          คิ้วก่งเหมือนกงเขาดีดฝ้าย                        จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ
          หูกลวงดวงพักตร์หักงอ                              ลำคอโตตันสั้นกลม
          สองเต้าห้อยตุงดังถุงตะเคียว                    โคนเหี่ยวแห้งรวบเหมือนบวบต้ม
          เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อม                      มันน่าเชยน่าชมนางเทวี ฯ

๒. นารีปราโมทย์  (บทชมเกี้ยวพาราสี)  ใช้ชมความงามของธรรมชาติ  ต้วละคร  หรือสถานที่ต่าง ๆ  เช่น บทที่นนทกเกี้ยวนางนารายณ์แปลง จากเรื่องรามเกียรติ์  ดังนี้

                    โฉมเอยโฉมเฉลา                       เสาวภาคแน่งน้อยพิสมััย
         เจ้ามาแต่สวรรค์ชั้นใด                            นามกรชื่อไรนะเทวี
          ประสงค์สิ่งใดจะใคร่รู้                             ทำไมมาอยู่ที่นี่
          ข้าเห็นเป็นน่าปราณี                                 มารศรีจงแจ้งกิจจา ฯ

หรือจะเป็นตอนที่พระอภัยมณีเกี้ยวนางละเวง    ประมาณว่า ต่อให้โลกพังทลาย พี่ก็ยังหยุดรักน้องไม่ได้  ไม่ว่าน้องจะไปเกิดเป็นอะไร  พี่ก็จะขอเกิดเป็นคู่ อยู่เป็นเงาตามตัวน้องตลอดทุกภพทุกชาติไป  ดังนี้

                    ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร                ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
        แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร                                  ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
        แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ                          พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
        แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา                                 เชยผกาโกสุมปทุมทอง
        เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่                                 เป็นราชสีห์สิงสู่เป็นคู่สอง
        จะติดตามทรามสงวนนวลละออง                   เป็นคู่ครองพิสวาสทุกชาติไป


๓. พิโรธวาทัง  (บทโกรธ ตัดพ้อต่อว่า)  ใช้แสดงอารมณ์โกรธ  น้อยใจ  ตัดพ้อต่อว่า  เช่นบทที่นนทกตัดพ้อที่พระนารายณ์แปลงกายเป็นนางฟ้ามาหลอกล่อให้นนทกร่ายรำตาม จนนิ้วเพชรชี้ไปถูกขาของนนทกเอง ดังนี้

                    บัดนั้น                                        นนทกผู้ใจแกล้วหาญ
    ได้ฟังจึ่งตอบพจมาน                                 ซึ่งพระองค์จะผลาญชีวี
    เหตุใดมิทำซึ่งหน้า                                    มารยาเป็นหญิงไม่บัดสี
    หรือว่ากลัวนิ้วเพชรนี้                                 จะมาชี้พระองค์ให้บรรลัย
    ตัวข้ามีมือแต่สองมือ                                 ฤๅจะสู้ทั้งสี่กรได้
    แม้นสี่มือเหมือนพระองค์ทรงชัย               ที่ไหนจะทำได้ดั่งนี้ ฯ
    
๔. สัลลาปังคพิสัย   (บทเศร้าโศก   คร่ำครวญ)  ใช้แสดงอารมณ์โศกเศร้าเสียใจ  เช่น ในเรื่องอิเหนา  เป็นบทที่นางประไหมสุหรีคร่ำครวญถึงมารดาของตนที่ต้องจากโลกนี้ไป   ดังนี้
                    
             โอ้พระชนนี้ของลูกเอ๋ย                   พระคุณเคยปกป้องประคองขวัญ
    เชยชมเช้าเย็นเป็นนิรันดร์                       สารพันมิให้อนาทร
    ยังมิได้ทดแทนสนองคุณ                        ซึ่งการุณรักร่ำพร่ำสอน
    หรือมาละลูมไว้ให้อาวรณ์                       หนีไปอมรเมืองฟ้า
    พระประชวรโรคันคุ้งบรรลัย                     ก็มิได้พิทักษ์รักษา
    เสียแรงที่อุ้มท้องประคองมา                   กัลยาร่ำพลางทางโศกี ฯ
     
    
                   เราได้เห็นตัวอย่างบทประพันธ์ที่ใช้รสวรรณคดีไทยไปแล้ว นะคะ  หากน้อง ๆ พบข้อสอบที่ถามเรื่องรสวรรณคดี  ก็ให้ยึดหลักตามนี้เลยจ้า...


                  รสวรรณคดีไทย
            
         ๑.เสาวรจนี - บทชมความงาม

         ๒. นารีปราโมทย์ - บทเกี้ยวพาราสี

         ๓. พิโรธวาทัง - บทโกรธ  ตัดพ้อต่อว่า

         ๔. สัลลาปังคพิสัย - บทโศกเศร้า  คร่ำครวญ
                            
                              





วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2563

ข้อสอบการอธิบาย บรรยายและพรรณนาโวหาร

           มาพบกันอีกครั้งนะคะ สำหรับวันนี้มีตัวอย่างข้อสอบการอธิบาย  การบรรยายและพรรณนาโวหารมาให้เราได้ลองทำดูค่ะ   ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่า  โวหารแต่ละชนิดมีลักษณะอย่างไร                                   
           ๑. การอธิบาย  เป็นการชี้แจง  ขยายความให้เนื้อหาละเอียดชัดเจน โดยมีเทคนิคการอธิบายหลายแบบ เช่น   การอธิบายตามลำดับขั้นตอน    การอธิบายด้วยการให้คำนิยามหรือคำจำกัดความ เป็นการให้ความหมายของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง   การอธิบายโดยการยกตัวอย่าง   การอธิบายโดยการเปรียบเทียบ   การอธิบายโดยการชี้สาเหตุและผลลัพธ์ที่สัมพันธ์กัน      เช่น การอธิบายการทำอาหาร   การให้ความหมายของสิ่งต่าง ๆ  การอธิบายเรื่องต่าง ๆ   คู่มือการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ 
         
           ๒. การบรรยาย   เป็นการบอกกล่าว  เล่าเรื่อง  เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ต่อเนื่องกัน โดยชี้ให้เห็นถึงสถานที่  บุคคลที่เกี่ยวข้อง   สภาพแวดล้อม  เพื่อให้ผู้รับสารเข้าใจเนื้อหาอย่างชัดเจน  เกิดภาพโดยรวมว่า ใคร  ทำอะไร  ที่ไหน   เมื่อใด   อย่างไร  อาจใช้สำหรับการเขียนตำรา  หรือเนื้อหาที่เกี่ยวกับวิชาการ  เช่น      เขาสร้างบ้านอยู่กลางป่าที่อุดมสมบูรณ์  ข้าง ๆ บ้านของเขามีไร่ข้าวโพดและไร่ส้มเป็นบริเวณกว้าง  ทุก ๆ เช้าเขามักจะออกมาเดินเล่นในไร่ส้มพร้อมกับลูกชายของเขา
         
           ๓.  การพรรณนา  เป็นการกล่าวถึงเรื่องราว  บุคคล  สิ่งของ  สถานที่ หรืออารมณ์อย่างละเอียด   เป็นการพรรณนาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเฉพาะส่วน อย่างละเอียด  มีการเปรียบเทียบให้ผู้อ่านเกิดภาพ  มักใช้ถ้อยคำสำนวนที่ไพเราะ  เกินจริง  ไม่ใช่ภาษาที่ใช้กล่าวถึงในชีวิตประจำวัน   เช่น  ในยามเช้าเมื่อแสงสีทองสาดแสงส่องกระทบกับหยดน้ำค้างที่ใสราวกับแก้วกลางเวหาที่ค้างอ้อยอิ่งอยู่บนยอดหญ้าสีเขียวสด  ดูแล้วราวกับเพชรที่เปล่งแสงระยิบระยับอยู่บนพรมกำมะหยี่สีเขียวมรกต มองแล้วช่างงามยิ่งนัก

       คงจะเห็นภาพและเห็นความแตกต่างของโวหารแต่ละชนิดแล้วนะคะ   มาดูตัวอย่างข้อสอบกันเลยจ้า

๑.  ข้อใดใช้การเขียนอธิบาย
      ๑. เต้าหู้มีกำเนิดมากว่า ๒,๐๐๐  ปี ในจีนแผ่นดินใหญ่  คนจีนถือว่าเต้าหู้เป็นอาหารที่มีคุณค่าสูง
      ๒. ตวงถั่วเหลือง  นำมาแช่น้ำล้างให้สะอาดแล้วนำไปบด  เสร็จแล้วกรอกกากออกจะได้น้ำเต้าหู้ดิบ
      ๓. เต้าหู้ราคาถูกแต่มีคุณค่าสูง คุณค่าทางโภชนาการที่โดดเด่นที่สุดของเต้าหู้คือโปรตีน
      ๔. เต้าหู้หลอดเป็นเต้าหู้เนื้อนิ่ม  นิยมนำมาปรุงเป็นแกงจืด

๒. ข้อความต่อไปนี้ใช้วิธีอธิบายแบบใด
     "การทำห่อหมกนั้นต้องใช้เวลานาน  เตรียมใบตอง  เจียนใบตองสำหรับห่อ  เลือกใบยอที่ไม่อ่อนเกินไปมาฉีกเป็นชิ้น ๆ ปลาช่อนหรือปลาสวายแม่น้ำที่จะนำมาห่อหมกต้องแล่เอาแต่เนื้อ  หัวกับพุงแยกไว้ต่างหาก  น้ำพริกแกงที่ใช้ทำน้ำพริกแกงเผ็ด แต่ไม่ใส่เครื่องเทศ  กะทิคั้นเอาแต่หัว  รวมเครื่องปรุงใส่ลงในอ่าง คนจนขึ้น   ตักใส่ใบตองห่อแล้วนำไปนึ่งจนสุก"
      ๑. ให้นิยาม                                              ๒. ใช้ตัวอย่าง         
      ๓. ชี้แจงตามลำดับขั้น                             ๔. เปรียบเทียบความเหมือนและแตกต่าง

๓. ข้อความนี้ใช้วิธีอธิบายแบบใด
     "โอกาดะ  เป็นวิธีการรักษาสุขภาพด้วยการใช้พลังธรรมชาติชำระล้างทั้งร่างกายและจิตใจ  มีวิธีการหลากหลาย  เช่น ใช้ศิลปะบำบัด  บริโภคอาหารที่ปรุงจากผลิตภัณฑ์เกษตรธรรมชาติ  ออกกำลังกายตามวิธีที่กำหนด ฯลฯ"
      ๑. นิยามและให้ตัวอย่าง                            ๒. นิยามและแนะแนวทางปฏิบัติ
      ๓. ชี้แจงตามลำดับขั้นตอนปฏิบัติ              ๔.  ชี้สาเหตุและผลลัพธ์ที่สัมพันธ์กัน

๔. ถ้าเรียงลำดับคำอธิบายวิธีการทำอาหารต่อไปนี้จนครบถ้วน  ข้อใดเป็นขั้นตอนที่ต่อจากข้อ ๕ ตามโจทย์
               ๑. ต้มน้ำในหม้อด้วยไฟกลาง  แล้วใส่ตะไคร้ใบมะกรูด
               ๒. ล้างหอยแมลงภู่  ปูม้า   กุ้งและปลาหมึกให้สะอาด
               ๓. ปรุงรสด้วยน้ำปลา  มะนาว  พริกขี้หนู  แล้วเสิร์ฟร้อน ๆ
               ๔. แล้วจึงใส่กุ้ง  ปลาหมึกและเห็ดฟาง
               ๕. เมื่อน้ำเดือดจัดใส่หอยแมลงภู่และปูม้า
      ๑. ข้อ  ๑                  ๒.  ข้อ   ๒                  ๓.  ข้อ   ๓                ๔.  ข้อ  ๔

๕. ข้อความต่อไปนี้ มีวิธีการเขียนตามข้อใด
        " เต่าทะเลเป็นสัตว์เลือดเย็น  มีกระดูกสันหลัง  หายใจด้วยปอด  มีกระดองปกคลุมร่างกายเพื่อป้องกันตัวเอง  เต่าทะเลจะอาศัยเฉพาะในเขตร้อนและเขตอบอุ่น  มีอายุเฉลี่ยประมาณ  ๕๐ ปี  บรรพบุรุษของเต่าเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในยุคดึกดำบรรพ์  ยุคเดียวกับไดโนเสาร์และมีวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน" 
๑. อธิบาย        ๒. บรรยาย        
๓. พรรณนา     ๔. บรรยายและพรรณนา
๕. อธิบายและบรรยาย

๖. ข้อใดใช้การพรรณนาโวหาร
      ๑. คนหาปลาออกจากกระท่อมแต่เช้าตรู่  คล้องแหไว้กับท่อนแขน  สะพายข้องตรงไปยังชายน้ำ
      ๒. คนหาปลาเดินเท้าเปล่าไปพร้อมแหในมือ  ตาจ้องตรงไปยังผิวน้ำเบื้องหน้าอย่างสงบ
      ๓. ในม่านแสงสุดท้ายของดวงตะวัน  คนทอดแหยืนเป็นเงาดำทะมึนอยู่ริมชายน้ำ
      ๔. นักท่องเที่ยวเฝ้าสังเกตการทอดแหอย่างตั้งใจ  ก่อนจะเข้าไปขอดูว่าปลาในแหมีกี่ตัว

๗. ข้อใดไม่ใช่การเขียนพรรณนา
      ๑.  น้ำตกช่วงสุดท้ายยังพุ่งลงมาเป็นสายกระทบลานหินกว้างสะท้อนแสงตะวันงามระยับตา
      ๒. น้ำตกสายนี้มีเสน่ห์ติดตาตรึงใจผู้มาเยือนด้วยสายธารที่ตกลงมาไหลรินโอบกอดลานหิน
      ๓. นักท่องเที่ยวจะได้ตื่นตากับฝูงผีเสื้อที่บินวนเวียนเหนือน้ำตกราวกับกลีบดอกไม้โปรยปราย
      ๔. หนุ่มสาวนิยมมาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่น้ำตกแห่งนี้ จึงขนานนามน้ำตกนี้ว่า "น้ำตกลานรัก"

๘. ข้อใดไม่ใช่พรรณนาโวหาร
      ๑.  ดอยหัวคำเป็นหมู่บ้านชาวเขาซึ่งแต่งกายด้วยสีสันงดงามราวกับลูกกวาดหลากสี
      ๒. ในหุบเขายังมีกลุ่มหมอกคลอเคลียภูเขาเหมือนเป็นทะเลขาวกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา
      ๓. ช่วงฤดูหนาวทุ่งดอกบัวตองสีเหลืองอร่าม  บานสะพรั่งเป็นพรมดอกไม้งดงามไปทั่วทั้งขุนเขา
      ๔. เราเดินทางจากตัวเมืองเชียงรายไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๑๓๐  ประมาณ ๑ ชั่วโมงก็จะถึงดอยหัวแม่คำ

๙. ข้อความต่อไปนี้เป็นโวหารชนิดใด
      "ก่อนจะถึงอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง  รถของเราเลี้ยวเข้าจอดที่จุดชมวิวดอยกิ่วลม  หลายคนกระชากอุปกรณ์ถ่ายภาพออกมาให้ทันภาพของแสงวันใหม่  เบื้องหน้าเห็นทะเลหมอกขาวนวลกำลังอ้อยอิ่งในอ้อมกอดของขุนเขา  ไกลออกไปเห็นยอดดอยหลวงเชียงดาวยืนเคียงตะวันราวกับสถูปของกาลเวลา"
      ๑. อธิบายและบรรยาย                              ๒. บรรยายและพรรณนา
      ๓. อธิบายและพรรณนา                            ๔. อุปมาและบรรยาย

๑๐. ข้อความต่อไปนี้ ข้อใดเป็นบรรยายโวหาร
     ๑. โชติเดินตรงเข้าไปในโบสถ์ เพราะได้ยินว่าที่นี่มีจิตรกรรมฝาผนังโบราณ
     ๒. ภาพเหนือประตูทางเข้าเป็นรูปแม่พระธรณีบีบมวยผมที่งดงามเหลือบรรยาย
     ๓. ถัดมาเป็นพญามารถูกคลื่นมหึมาซัดกระโชก
     ๔. มารแต่ละตนดิ้นรนหนีตายด้วยอาการหวาดผวา

๑๑.  ข้อใดไม่ใช่การเขียนแบบบรรยาย
     ๑. ปลาหนักสามสิบกิโลกระแทกผิวน้ำเสียงดัง  มันหงายท้องขึ้นมาครู่หนึ่งก่อนพลิกกลับ แล้วผลุบหายลงสู่ใต้น้ำ
     ๒. เขายังจำใบหน้าท่าทางของเธอได้อย่างติดตา  เธอเป็นคนอ้วน  หน้าอิ่ม  แก้มแดงเรื่อเหมือนดอกหงอนไก่บาน
     ๓. รถยนต์คันหนึ่งเลี้ยวจากถนนใหญ่เข้ามาในซอยและจอดอยู่ใกล้ปากทางหลายนาที
     ๔. พ่อครัวรีบปีนขึ้นหลังคา  อุ้มไอ้โต้งลงมาล่ามไว้ หยิบผ้าขนหนูออกมาเช็ดขนให้มัน

๑๒. ข้อใดใช้โวหารการเขียนต่างจากข้ออื่น
     ๑. เสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีดังขึ้น พร้อมกับเสียงที่ทุกคนเปล่งออกมาว่า "ทรงพระเจริญ" ก็ดังก้องไปทั่วบริเวณ
     ๒. มองไปทางไหนเห็นแต่สีเหลืองอร่ามสะพรั่งไปทั่วบริเวณ  อาจมีสีอื่นบ้างจากร่มกั้นกางแดดดูเป็นสีกระดำกระด่างแซมปนบ้าง
     ๓. เสียงผู้คนตะโกนดังก้องไปทั่วว่า "ทรงพระเจริญ" แสงแดดที่แผดกล้ากลับรู้สึกอบอุ่น  มีสายลมเย็น ๆ แผ่วผ่านมา
     ๔. เสียงเห่เรือก้องกังวานตามผืนน้ำ  ท่ามกลางแสงอาทิตย์ยามเย็นที่สาดแสงสีเหลืองทองจับเป็นประกายบริเวณหมู่ยอดเจดีย์


ลองทำดูแล้ว มาตรวจคำตอบกันค่ะ

ข้อ ๑.  ตอบ     เป็นการอธิบายที่เป็นขั้นตอนชัดเจน  ส่วนข้ออื่น ๆ เป็นการเขียนบรรยาย     
  
ข้อ ๒.  ตอบ    เป็นการเขียนชี้แจงตามลำดับขั้นตอนของการทำห่อหมก       

ข้อ ๓.  ตอบ    เป็นการเขียนอธิบายแบบการให้นิยามและตัวอย่าง สังเกตจากคำว่า  เป็น  (ให้นิยาม)                                   และ คำว่า  เช่น  (การยกตัวอย่าง)

ข้อ ๔. ตอบ     "แล้วจึงใส่กุ้ง  ปลาหมึก และเห็ดฟาง"  สำหรับความเห็นของผู้เขียน มองว่า อาจเรียง                                ลำดับเป็น   ๑ ๒ ๕ ๔ ๓    หรือ   ๒  ๑  ๕  ๔  ๓   ซึ่งลำดับที่ ๑  และ  ๒  อาจสลับที่กันได้
                        แล้วแต่บริบท  แล้วแต่จำนวนวัตถุดิบ  หรือแล้วแต่ความคล่องของแม่ครัวจ้า ซึ่งเราไม่ต้อง
                        สนใจ เพราะโจทย์ต้องการทราบขั้นตอนที่ต่อจากข้อ ๕ เท่านั้น

ข้อ ๕.  ตอบ    เป็นการเขียนอธิบาย เพราะเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นจริง แต่ไม่มีการเล่าเรื่องใด ๆ ทั้งสิ้น

ข้อ ๖. ตอบ  ๓   เป็นการพรรณนา สังเกตจาก  ในม่านแสงสุดท้ายของดวงตะวัน   ส่วนข้ออื่น ๆ 
                         เป็นการบรรยาย

ข้อ ๗. ตอบ ๔  เพราะเป็นการเขียนอธิบายชี้สาเหตุและผลลัพธ์ที่สัมพันธ์กัน คืดบอกที่มาของชื่อน้ำตก
                          ส่วนข้ออื่น ๆ เป็นการเขียนพรรณนา โดยมีข้อสังเกตดังนี้ 
              ๑.  น้ำตกช่วงสุดท้ายยังพุ่งลงมาเป็นสายกระทบลานหินกว้างสะท้อนแสงตะวันงามระยับตา
              ๒. น้ำตกสายนี้มีเสน่ห์ติดตาตรึงใจผู้มาเยือนด้วยสายธารที่ตกลงมาไหลรินโอบกอดลานหิน
              ๓. นักท่องเที่ยวจะได้ตื่นตากับฝูงผีเสื้อที่บินวนเวียนเหนือน้ำตกราวกับกลีบดอกไม้โปรยปราย
       
ข้อ ๘. ตอบ   เป็นการใช้บรรยายโวหาร  ส่วนข้ออื่นเป็นพรรณนาโวหาร มีข้อสังเกต ดังนี้   
              ๑.  ดอยหัวคำเป็นหมู่บ้านชาวเขาซึ่งแต่งกายด้วยสีสันงดงามราวกับลูกกวาดหลากสี
              ๒. ในหุบเขายังมีกลุ่มหมอกคลอเคลียภูเขาเหมือนเป็นทะเลขาวกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา
              ๓. ช่วงฤดูหนาวทุ่งดอกบัวตองสีเหลืองอร่าม  บานสะพรั่งเป็นพรมดอกไม้งดงามไปทั่วทั้งขุนเขา
        
ข้อ ๙. ตอบ     ใช้โวหารบรรยายและพรรณนา   โดยข้อความแรกเป็นบรรยายโวหาร และข้อความที่
                           ขีดเส้นใต้ เป็นพรรณนาโวหาร
 "ก่อนจะถึงอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง  รถของเราเลี้ยวเข้าจอดที่จุดชมวิวดอยกิ่วลม  หลายคนกระชากอุปกรณ์ถ่ายภาพออกมาให้ทันภาพของแสงวันใหม่  เบื้องหน้าเห็นทะเลหมอกขาวนวลกำลังอ้อยอิ่งในอ้อมกอดของขุนเขา  ไกลออกไปเห็นยอดดอยหลวงเชียงดาวยืนเคียงตะวันราวกับสถูปของกาลเวลา"  

ข้อ ๑๐. ตอบ    ส่วนข้ออื่น ๆ เป็นการใช้พรรณนาโวหาร แม้จะมีไม่มาก แต่ก็นับว่าเห็นภาพได้ชัดเจน
               ๒. ภาพเหนือประตูทางเข้าเป็นรูปแม่พระธรณีบีบมวยผมที่งดงามเหลือบรรยาย
               ๓. ถัดมาเป็นพญามารถูกคลื่นมหึมาซัดกระโชก
              ๔. มารแต่ละตนดิ้นรนหนีตายด้วยอาการหวาดผวา
     
ข้อ ๑๑. ตอบ     เป็นการเขียนพรรณนา เพราะมีการเปรียบเทียบ ทำให้เห็นภาพชัดเจน ดังนี้      
             ๒. เขายังจำใบหน้าท่าทางของเธอได้อย่างติดตา  เธอเป็นคนอ้วน  หน้าอิ่ม  แก้มแดงเรื่อเหมือนดอกหงอนไก่บาน
   
ข้อ ๑๒. ตอบ ๑  เป็นการใช้บรรยายโวหาร    ส่วนข้ออื่นเป็นการใช้พรรณนาโวหาร  สังเกตจาก
         ๒. มองไปทางไหนเห็นแต่สีเหลืองอร่ามสะพรั่งไปทั่วบริเวณ  อาจมีสีอื่นบ้างจากร่มกั้นกางแดดดูเป็นสีกระดำกระด่างแซมปนบ้าง
         ๓. เสียงผู้คนตะโกนดังก้องไปทั่วว่า "ทรงพระเจริญ" แสงแดดที่แผดกล้ากลับรู้สึกอบอุ่น  มีสายลมเย็น ๆ แผ่วผ่านมา
         ๔. เสียงเห่เรือก้องกังวานตามผืนน้ำ  ท่ามกลางแสงอาทิตย์ยามเย็นที่สาดแสงสีเหลืองทองจับเป็นประกายบริเวณหมู่ยอดเจดีย์
   

 แล้วพบกันครั้งต่อไปนะคะ....