วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ความเชื่อในวรรณคดี

         ในวรรณคดีไทยหลายเรื่องมักจะปรากฎความเชื่อของคนไทยอยู่เสมอ ๆ ซึ่งเราสามารถแบ่งความเชื่อที่ปรากฎในวรรณคดีได้เป็น 2 ประเภท คือ ความเชื่อทางไสยศาสตร์ และความเชื่อทางพุทธศาสตร์ นั่นเอง  มาดูกันเลยค่ะว่า ความเชื่อทั้งสองประเภทนี้เป็นยังไงกันบ้าง  

    ความเชื่อทางไสยศาสตร์ คือความเชื่อที่เกี่ยวกับวิญญาณ  เครื่องรางของขลัง  โชคลาง  ฝันบอกเหตุ   ลางสังหรณ์  การลงเลขเสกยันต์   โหราศาสตร์   สีผ้าแต่งกายประจำวัน   พิธีกรรมก่อนการทำสงคราม   การทำเสน่ห์  คุณไสย    คาถาอาคม  การบวงสรวง  การแก้บน  

    ส่วนความเชื่อทางพุทธศาสตร์ คือความเชื่อเรื่องเวรกรรม บุญบาป  การเวียนว่ายตายเกิด  นรกสวรรค์   มาดูตัวอย่างความเชื่อที่ปรากฎในวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ ได้เลยค่ะ  

ตัวอย่างความเชื่อทางไสยศาสตร์    (ฝันบอกเหตุ)

  "   ฝ่ายผีเสื้อเมื่อจะจากพรากลูกผัว       แต่พลิกตัวกลิ้งกลับไม่หลับใหล
ให้หมกมุ่นขุ่นคล้ำในน้ำใจ                       จนเสียงไก่แก้วขันสนั่นเนิน
พอม่อยหลับหลับจิตนิมิตฝัน                   ว่าเทวัญอยู่ที่เกาะนั้นเหาะเหิน
มาสังหาญผลาญถ้ำระยำเยิน                   แกว่งพะเนินทุบนางแทบวางวาย
แล้วอารักษ์ควักล้วงเอาดวงเนตร             สำแดงเดชเหาะกลับไปลับหาย
ทั้งกายสั่นพรั่นตัวด้วยกลัวตาย              พอฟื้นกายก็พอแจ้งแสงตะวัน"        

 (จากพระอภัยมณี :สุนทรภู่)
            

    " ฝันว่าอาทิตย์ฤทธิ์รงค์                    ตกลงตรงพักตร์ข้างทักษิณ
ดาวน้อยพลอยค้างอยู่กลางคืน            เราผินพักตร์ฉวยเอาด้วยพลัน
มือซ้ายได้ดวงดารา                              มือขวาคว้าได้สุริย์ฉันง
แล้วหายไปแต่พระสุริยัน                      ต่อโศกศัลย์ร่ำไรจึงได้คืน
สักสามยามหย่อนค่อนรุ่ง                     เราสะดุ้งคว้าหาผวาตื่น
ดีร้ายทายตามอย่ากล้ำกลืน                  ตาหมื่นโหราจงว่าไป 

(จากสังข์ทอง  : พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)


    "  บัดนั้น                                         ยอดโหรหามีเสมอไม่
คิดคูณหารดูรู้แจ้งใจ                           ภูวไนยจะเกิดบุตรา
จึงทูลทายทำนายตามสุบิน                ว่าพระปิ่นนางในฝ่ายขวา
จะทรงครรภ์พระราชบุตรา                  บุญญาธิการมากมี
แต่จะพลัดพรากไปจากวัง                  ภายหลังจึงจะคืนกรุงศรี
ดาราคือพระบุตรี                                 จะเกิดที่สนมอันควร
ฝันว่าพระทรงโศกา                            จะได้ชมลูกยาเกษมสรวล
ทายตามสุบินสิ้นกระบวน                    ถี่ถ้วนจงทราบพระบาทา"

(จากกลอนบทละครเรื่องสังข์ทอง  : พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)


ตัวอย่างความเชื่อทางไสยศาสตร์   (คาถาอาคม)

"     คะเนนับย่ำยามได้สามครา               ดูเวลาปลอดห่วงทักษิณ
ฟ้าขาวดาวเด่นดวงสว่าง                        จันทร์กระจ่างทรงกลดหมดเมฆสิ้น
จึงเซ่นเหล้าข้าวปลาให้พรายกิน            เสกขมิ้นว่านยาเข้าทาตัว
ลงยันต์ราชะเอาปะอก                            หยิบยกมงคลขึ้นใส่หัว
เป่ามนตร์เบื้องบนชอุ่มมัว                       พรายยั่วยวนใจให้ไคลคลา  "          

(จากเสภาขุนช้างชุนแผน : สุนทรภู่)

"  แล้วจึงเสกยันต์ตรีนิสิงเห                    เรียกผีผีเซเข้ามาใกล้
เอายันต์ปิดศีรษะลงทันใด                      ข้าวของคล้องใส่ไหล่ผีลง
โดดขึ้นบนบ่าผีพาลิ่ว                              ดังลมปลิวเร็วมาในป่าระหง
ข้ามทุ่งมุ่งลัดตัดดง                                หมายตรงเข้ามาเมืองสุพรรณ

(จากเสภาขุนช้างขุนแผน : สุนทรภู่)

"      ว่าแล้วจุดเทียนเข้าติดพาน            โหงพรายลนลานหาญกล้า
ปลุกเสกด้วยฤทธิ์วิทยา                          มิช้าลุกขึ้นทั้งโหงพราย
ยายเฒ่าจึงลนเอาน้ำมัน                        ต่อหน้านางจันทร์น่าขวัญหาย
ขี้ผึ้งปิดปากผีพราย                                ปั้นเป็นรูปกายพระภูมิ
กับนางจันทาให้กอดกัน                         แล้วผูกพันไปด้วยด้ายผี
เอาใส่ใต้ที่นอนนางเทวี                         น้ำมันผีเสกใส่ในเครื่องทา
ลงชื่อใส่ไส้เทียนตาม                             สองยามให้หลงลงมาหา
เสกหมากพลูไว้ให้มิได้ช้า                      มิมาอย่านับข้าสืบไป  "
แล้วบอกมนตรามหาละลวย                    เป่าให้งวยงงหลงใหล
เพ็ดทูลเชื่อฟังดังใจ                               ว่าไรเห็นจริงทุกสิ่งอัน
เชิญแม่สระสรงทรงทา                          ตัวข้าจะลาผายผัน
เก็บหัวโหงพรายใส่ย่ามพลัน                 ลานางจอมขวัญไปทันที

(จากกลอนบทละครเรื่องสังข์ทอง  : พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)


"    ตั้งตามกระบวนเบญจเสนา                ซ้ายขวาปีกป้องกองหลวง
ทัพหน้าทัพหลังทั้งปวง                           เคยหักโหมโจมจ้วงประจัญบาน
บ้างแต่งตัวปลุกเสกเลขยันต์                    ทาน้ำมันเคี้ยวขมิ้นกินว่าน
เนื้อเหน็บหนังเหนียวเชี่ยวชาญ                ห้าวหาญทรหดอดทน
บ้างขบฟันขันขออาสา                              รู้วิชาบังเหลื่อมล่องหน
ต่างแต่งตัวดีมีเวทมนตร์                            ใส่มงคลประคำคาดเครื่องราง
ล้วนถือปืนผาอาวุธ                                    คาบชุดทองปลายหลายอย่าง
ปืนหลักยักกะตราขานกยาง                       ใส่หลังช้างพลายพังดั้งกัน
สารวัดจัดแจงโยธา                                    ตามตำราตำรับทัพขัน
ที่เหลือออกนอกตำแหน่งแบ่งปัน               ให้อยู่เฝ้าสุวรรณพลับพลา ฯ"


(จากกลอนบทละครเรื่องอิเหนา  : พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)



ตัวอย่างความเชื่อทางไสยศาสตร์      (สีเสื้อผ้าแต่งกายประจำวัน)

"   อนึ่งภูษาผ้าทรงณรงค์รบ                  ให้มีครบเครื่องเสร็จทั้งเจ็ดสี
วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี                   เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล
เครื่องวันจันทร์นั้นควรสีนวลขาว           จะยืนยาวชันษาสถาผล
อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน               เป็นมงคลขัตติยาเข้าราวี
เครื่องวันพุธสุดดีด้วยสีแสด                  กับเหลือบแปดปนประดับสลับสี
วันพฤหัสจัดเครื่องเขียวเหลืองดี           วันศุกร์ศรีเมฆหมอกออกสงคราม
วันเสาร์ทรงดำจึงล้ำเลิศ                        แสนประเสริฐเสี้ยนศึกจะนึกขาม
หนึ่งพาชีขี่ขับประดับงาม                      ให้ต้องตามสีสันจึงกันภัย

(จากสวัสดิรักษา :  สุนทรภู่)

ตัวอย่างความเชื่อทางพุทธศาสตร์

"  สิ่งใดในโลกล้วน        อนิจจัง
คงแต่บาปบุญยัง            เที่ยงแท้
คือเงาติดตัวตรัง            ตรึงแน่น    อยู่นา
ตามแต่บาปบุญแล้        ก่อเกื้อรักษา  "

(จากลิลิตพระลอ)


"       ให้สิ้นเวรสิ้นกรรมทำบุญเถิด            ลูกจะได้ไปเกิดในชาติใหม่
ถึงบาปกรรมทำชั่วติดตัวไป                      พอจะได้คลายร้อนด้วยผ่อนเวร
เพราะว่ากรรมนำไปให้ใจชั่ว                      จึงเมามัวคบหากับเณรเถร
เอาอิจฉาพยาบาทมาเป็นเกณฑ์                ไม่แลเห็นโทษผิดช่างปิดบัง  "

(จากเสภาขุนช้างชุนแผน : สุนทรภู่)


        คงจะพอเห็นตัวอย่างความเชื่อในวรรณคดีกันบ้างแล้วนะคะ  ขอให้มีความสุขกับการอ่านวรรณคดีกันทุกคนจ้า









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น