วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข้อสอบคำสมาส

         หากเราพูดถึงภาษาบาลีสันสกฤตกันแล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งคำที่ต้องพูดถึงนั่นคือ  คำสมาส นั่นเอง

"คำสมาส"  เป็นคำที่เกิดจากการสร้างคำของภาษาบาลีและสันสกฤต เท่านั้น โดยมีรูปแบบดังนี้

๑. คำบาลี + คำบาลี                        ๒. คำบาลี + คำสันสกฤต        

๓. คำสันสกฤต + คำสันสกฤต         ๔. คำสันสกฤต + คำสันสกฤต

    หากคำบาลีหรือสันสกฤตรวมกับคำอื่น  คำนั้นก็จะเป็นคำประสม  ไม่ใช่คำสมาส 

และมักนำคำที่มีความหมายหลักไว้ข้างหลัง และนำคำที่มีความหมายรองไว้ด้านหน้า    

ดังนั้น เราจึงแปลความหมายของคำสมาส จากคำหลังมาหาคำหน้า  เช่น

วีร   (ความกล้าหาญ) + บุรุษ  (ผู้ชาย)  สมาสเป็นคำว่า วีรบุรุษ  หมายถึง  ผู้ชายที่กล้าหาญ

    คำสมาส แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ คำสมาสแบบธรรมดา และคำสมาสแบบมีสนธิ

    หลักสังเกตคำสมาส

    ๑. คำสมาสแบบธรรมดา จะเป็นการนำคำบาลีสันสกฤตมาเรียงติดกัน โดยไม่มีการเชื่อมเสียง

ระหว่างคำหน้าและคำหลัง  แต่จะคงเสียงสระของพยางค์หน้าเอาไว้   จึงนิยมจำว่า  สมาส  =  ชน   เช่น  

ราช + โอรส  ได้คำว่า   ราชโอรส   หมายถึง  บุตรชายของพระราชา

    ๒. คำสมาสแบบมีสนธิ  เป็นการนำคำบาลีสันสกฤตสองคำมาเรียงกัน โดยมีการเชื่อมเสียงระหว่าง

คำหน้าและคำหลัง  โดยมีการแปลงเสียงสระของพยางค์หน้าเชื่อมกับพยางค์แรกของคำหลัง  การสมาส

ลักษณะนี้เรียกว่า การสนธิ     จึงนิยมจำว่า  สนธิ = เชื่อม     เพราะเมื่อแยกคำออกแล้ว จะไม่ได้คำชัดเจน

เหมือนคำสมาสแบบธรรมดา   แต่จะได้เป็นคำแปลก ๆ   เช่น

มหัศจรรย์  มาจากคำว่า   มหา + อัศจรรย์   หมายถึง  ความแปลกประหลาดมาก, น่าทึ่งมาก, ว้าว

มหัศจรรย์   ไม่ใช่แยกแล้ว ได้คำว่า  มหัศ + จรรย์  นะจ๊ะ

จุลินทรีย์  มาจากคำว่า  จุล + อินทรีย์   หมายถึง  สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีทั้งเซลล์เดียวและหลายเซลล์

จุลินทรีย์  ไม่ใช่แยกแล้ว ได้คำว่า จุลิน + ทรีย์  นะจ๊ะ

    คำสมาสแบบมีสนธิ  แบ่งได้ ๓ ประเภทย่อย ๆ คือ  สระสนธิ    พยัญชนะสนธิ  และนิคหิตสนธิ 

 ดังนี้

    ๑. สระสนธิ  เป็น การเชื่อมคำโดยท้ายคำหน้าและต้นคำหลังเป็นสระ   เช่น

            โภชนอาการ    ได้คำว่า   โภชนาการ

(ทริกง่าย ๆ  : การเชื่อมคำแบบสระสนธิ  ให้ตัด  อ  ของคำหลังออก แล้วลากคำข้างหน้ามาเชื่อมได้เลย)


    ๒. พยัญชนะสนธิ   เป็นการเชื่อมคำ เมื่อท้ายคำหน้าและต้นคำหลังเป็นพยัญชนะ  เช่น

            รหั + าน     ได้คำว่า   รโหฐาน

( ทริกง่าย ๆ : เปลี่ยน  ส  ของคำหน้าเป็น  สระโอ  หรือ  ร    เช่น

        นิส + ทุกข์    ให้เปลี่ยน ส เป็น  ร    แล้วเชื่อมคำใส่กันได้คำว่า   นิรทุกข์

        มนส +  ภาพ   ให้เปลี่ยน   ส   เป็น   โ   แล้วเชื่อมคำใส่กันได้คำว่า  มโนภาพ)   

   

    ๓. นิคหิตสนธิ  หรือ นฤคหิตสนธิ   เป็น การเชื่อมคำที่มี ๓ แบบย่อย ๆ ดังนี้

        ๓.๑   เมื่อคำหน้าเป็น นิคหิต สนธิกับสระ  ให้แปลงนิคหิต เป็น  "ม"   เช่น

                สํ +  อาคม    แปลงนิคหิตเป็น  ม  ได้คำว่า   สม + อาคม  ได้คำว่า   สมาคม


        ๓.๒  เมื่อคำหน้าเป็น  นิคหิต  สนธิกับพยัญชนะวรรค  ให้แปลงนิคหิตเป็นพยัญชนะ

ตัวสุดท้ายของวรรคนั้น   ดังนี้   

                                วรรค  ก    ได้แก่  ก   ข   ค   ฆ     

                                วรรค  จ     ได้แก่  จ   ฉ   ช  ฌ 

                                วรรค  ฏ     ได้แก่   ฏ  ฐ  ฑ  ฒ 

                                วรรค  ต     ได้แก่   ต   ถ   ท   ธ 

                                วรรค  ป      ได้แก่   ป   ผ   พ  ภ 

เช่น    สํ + คีต  แปลงนิคหิตเป็น  ง  เพราะ  ค  อยู่ในวรรค  ก   ได้คำว่า   สังคีต    

          สํ +  ผัส  แปลงนิคหิตเป็น    เพราะ   ผ  อยู่ในวรรค  ป   ได้คำว่า   สัมผัส

         สํ + ฐาน  แปลงนิคหิตเป็น  ณ  เพราะ  ฐ   อยู่ในวรรค   ฏ   ได้คำว่า   สัณฐาน


        ๓.๓  เมื่อคำหน้าเป็น  นิคหิต  สนธิกับพยัญชนะเศษวรรค  ให้แปลง นิคหิต เป็น  "ง"   เช่น

            สํ + สรรค์   แปลงนิคหิตเป็น  ง   ได้คำว่า   สังสรรค์

            สํ + เวช      แปลงนิคหิตเป็น   ง   ได้คำว่า    สังเวช

                

           คำสมาสนี้ค่อนข้างจะยาก  แต่ถ้าเรารู้หลักการสังเกต และฝึกเชื่อมคำบ่อย ๆ เราก็จะสังเกตลักษณะ

ของคำนั้น ได้ชัดเจนขึ้น  

            เมื่อเรารู้หลักการสังเกตคำสมาสกันบ้างแล้ว  เรามาลองทำข้อสอบเรื่อง คำสมาส กันดูนะคะ  

 หากพร้อมแล้ว  ลงมือทำเลยจ้า


๑. ข้อใดมีคำสมาส  

    ๑. ดินแดนที่เป็นประเทศไทยทุกวันนี้ มีผู้คนอยู่อาศัยมานานนับหมื่น ๆ ปี

    ๒. ดังหลักฐานสำคัญ คือ โครงกระดูกและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่พบในหลุมฝังศพ

    ๓. ผู้คนดังกล่าวได้สร้างสมความเจริญและพัฒนาต่อเนื่องจากยุคหินสู่ยุคโลหะอยู่รวมกันเป็นชุมชน

    ๔. ครั้นเมื่อถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๑  ก็เริ่มมีการก่อตั้งเป็นแว่นแคว้นและเริ่มมีกษัตริย์เป็นผู้ปกครอง


๒. ข้อใดไม่มีคำสมาส 

    ๑. บทความบางเรื่องมีแผนภูมิประกอบ

    ๒. ทหารที่สละชีพเพื่อชาติได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ

    ๓. คณะนาฏศิลป์ไทยไปแสดงที่ต่างประเทศ

    ๔. หนังสือที่มีอายุครบ ๕๐ ปีแล้วไม่มีค่าลิขสิทธิ์


๓. ข้อใดมีคำสมาสที่มีการสนธิ

    ๑. ฝูงวัวควายผ้ายลาทิวากาล

    ๒. วัฒนธรรมประจำถิ่นนี้น่าศึกษา

    ๓. ธรรมาธรรมสงครามมีคติสอนใจ

    ๔. เมตตาธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนโลก


๔. ข้อใดไม่มีคำสมาส

    ๑. มยุรฉัตรชุมสายพรายศรี   พัดโบกพัชนี

    ๒. ไพร่ฟ้าประชาชี        ชาวบุรีก็ปรีดา

    ๓. ผาสุกรุกขมูล         พูนสวัสดิ์สถาวร

    ๔. เร่งพลโยธาพานรินทร์    เร่งรัดหัสดิน


๕. ข้อความ  ๒  ข้อใดมีคำสมาสที่มีการสนธิ   

    ๑. คนรักษาคำสัตย์นั้น  แม้ตัวจะตายไป   โลกก็ยังยกย่องมิรู้ลืม

    ๒. พึงอ่อนน้อมต่อผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนด้วย  พึงคบหากับผู้ที่เต็มใจจะคบหาสมาคมด้วย

    ๓. สติกับปัญญาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากในการทำงานทุกอย่างและต้องให้มีคู่กันไป

    ๔. วางได้บ้าง ก็จะมีสุขได้บ้าง  วางได้หมด ก็จะเป็นสุขได้ทั้งหมด นี่แหละคือสัจธรรมแหละลูกเอ๋ย

    ๕. ความใฝ่ฝันนั้นเป็นการจุดประกายจินตนาการและเป็นแรงกระตุ้นให้คนมีมานะทำฝันให้เป็นจริง


๖. คำประพันธ์ ๒ ข้อใดมีคำสมาส

    ๑.ควรไทยเราช่วยบำรุงวิชาช่าง            เครื่องสำอางแบบไทยสโมสร

    ๒.ช่วยบำรุงช่างไทยให้ถาวร                 อย่าให้หย่อนกว่าเขาเราจะอาย

    ๓.แม้พวกเราชาวไทยตั้งใจช่วย            เอออำนวยช่างไทยให้ทำของ

    ๔.อันการใดมีระเบียบและเรียบร้อย        มีร่องรอยเจริญไกลไปภายหน้า

    ๕.สมเป็นเมืองใหญ่โตมโหฬาร             พอไม่อายเพื่อนบ้านจึ่งจะดี


เฉลยข้อสอบ

๑. ตอบข้อ ๔  เพราะมีคำสมาสคือ คำว่า "พุทธศตวรรษ"  มาจากคำว่า พุทธ + ศตวรรษ


๒. ตอบข้อ  ๑   เพราะ ข้อ  ๒  มีคำสมาส คือคำว่า  วีรบุรุษ  มาจากคำว่า  วีร + บุรุษ

                                   ข้อ ๓  มีคำสมาส คือคำว่า  นาฏศิลป์  มาจากคำว่า นาฏ + ศิลป์

                                   ข้อ ๔  มีคำสมาส คือคำว่า  ลิขสิทธิ์  มาจากคำว่า  ลิข + สิทธิ์


๓. ตอบข้อ ๓  มีคำสมาสที่มีการสนธิ คือคำว่า   ธรรมาธรรม   มาจากคำว่า  ธรรม + อธรรม     

                        ส่วนข้อ  ๑  มีคำสมาส คือคำว่า ทิวากาล  มาจากคำว่า  ทิวา + กาล

                        ส่วนข้อ  ๒  มีคำสมาส คือคำว่า  วัฒนธรรม   มาจากคำว่า   วัฒน  +  ธรรม

                        ส่วนข้อ  ๓  มีคำสมาส  คือคำว่า  เมตตาธรรม  มาจากคำว่า   เมตตา + ธรรม


๔. ตอบข้อ  ๒   เพราะข้อ ๑  มีคำว่า   มยุรฉัตร  มาจากคำว่า  มยุร + ฉัตร  (สมาสแบบธรรมดา)

                                   ข้อ ๓  มีคำว่า   รุกขมูล    มาจากคำว่า   รุกข + มูล  (สมาสแบบธรรมดา)

                                   ข้อ  ๔ มีคำว่า   พานรินทร์   มาจากคำว่า  พาน + อรินทร์   (สมาสแบบสนธิ)

                                            และคำว่า  หัสดิน    มาจากคำว่า   หัสดี + อินทร์  (สมาสแบบสนธิ)

                           

 ๕. ตอบข้อ  ๒  กับ ข้อ ๕   มีคำสมาสที่มีการสนธิ  ดังนี้

                    ข้อ  ๒   มีคำว่า  สมาคม   มาจากคำว่า   สํ + อาคม

                    ข้อ  ๕   มีคำว่า  จินตนาการ   มาจากคำว่า    จิตน + อาการ

๖. ตอบข้อ ๑ กับข้อ ๕  ดังนี้

                    ข้อ ๑ มีคำสมาสแบบสนธิ (นฤคหิตสนธิ)คือคำว่า  สโมสร มาจากคำว่า สํ+โอสร    ได้คำว่า สโมสร

                   ข้อ ๕ มีคำสมาสแบบสนธิ (สระสนธิ) คือคำว่า มโหฬาร  มาจากคำว่า มหา+โอฬาร  ได้คำว่า มโหฬาร 




    พักจิบชาอัญชัน+เกสรบัวสีสวย ๆ กันสักนิดจ้า...  

...พบกันคราวหน้านะจ๊ะ....



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น