วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2567

นารายณ์สิบปาง

    หากกล่าวถึงเทพเจ้าในศาสนาฮินดู หลายคนต้องนึกถึงพระอิศวร พระพรหมและพระนารายณ์ และเทพองค์อื่น ๆ อีกมากมาย  แต่วันนี้เราจะพูดถึงพระนารายณ์กันค่ะ
      พระนารายณ์ หรือพระวิษณุ เป็นเทพที่มีบทบาทในการปราบสิ่งชั่วร้ายต่างๆ เพื่อให้โลกสุขสงบ ซึ่งในการปราบสิ่งชั่วร้ายนั้น พระนารายณ์จะแบ่งภาคอวตารมายังโลกมนุษย์
     การอวตาร คือ การแบ่งภาคมาเกิดในโลกมนุษย์ของเทพเจ้า โดยเทพจะแบ่งพลังงานส่วนหนึ่งลงมาเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์ เพื่อทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อโลกเดือดร้อนตามความเชื่อของศาสนาฮินดู
       การอวตารมาปราบยุคเข็ญของพระนารายณ์นั้น มีอยู่ 10 ปางด้วยกัน เรียกว่า ทศาวตาร หรือ  นารายณ์สิบปาง  ดังนี้    
     ปางที่ 1 มัตสยาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นปลาศะผะริ เพื่อฆ่าอสูรหัยครีพ ผู้ลักพระเวทของพระพรหม  แล้วปลาศะผะริก็ได้นำพระเวทมาคืนพระพรหม
     ปางที่ 2  กูรมาวตาร   เป็นการอวตารมาเป็นเต่าใหญ่ไปรองรับข้างใต้ภูเขามันทรที่เทวดาใช้กวนน้ำทิพย์ เพราะเกรงว่าเขามันทรจะเจาะโลกลึกจนโลกทลาย
     ปางที่ 3 วราหาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นหมูเพื่อปราบหิรัณตยักษ์ผู้ม้วนแผ่นดิน
     ปางที่ 4 นรสิงหาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นนรสิงห์เพื่อปราบหิรัณยกศิปุยักษ์ซึ่งแย่งสวรรค์ของพระอินทร์
     ปางที่ 5 วามนาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นพราหมณ์เตี้ย ทำอุบายแย่งโลกและสวรรค์จากท้าวพลีพญาแทตย์และมอบบาดาลให้แก่ท้าวพลีครอบครอง
     ปางที่ 6  ปรศุรามาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นพราหมณ์ชื่อ ราม (รามสูร)  เพื่อฆ่าอรชุน
     ปางที่ 7 รามจันทราวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นพระรามตามเรื่องรามเกียรติ์
     ปางที่ 8 กฤษณาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นพระกฤษณะ เพื่อปราบยักษ์พญากงส์ตามเรื่องมหาภารตยุทธ์
     ปางที่ 9 พุทธาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้า คือ พระสิทธัตถกุมาร
     ปางที่ 10 กัลกยาวตาร  เป็นการอวตารลงมาเป็นบุรุษผิวขาวที่ชื่อ กัลลี  เพื่อปราบกลียุคซึ่งจะมาถึงในอนาคต
      นี่คือปางทั้ง 10 ของพระนารายณ์ที่ได้อวตารลงมาปราบยุคเข็ญในโลกมนุษย์เพื่อให้โลกสวบสุขนั่นเอง....

วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2567

คำที่มีความหมายโดยตรงและความหมายโดยนัย

    คำที่เราใช้กันอยู่นั้น   มีหลายคำที่ไม่ได้มีแค่ความหมายเดียว  เราสามารถใช้ในความหมายอื่น นอกจากความหมายหลักก็ได้

     เรามาดูกันว่า ความหมายของคำ มีกี่แบบ  

แบบที่ 1 คำที่มีความหมายโดยตรง คือ คำที่มีความหมายตรงตามรูปคำ เป็นความหมายแรกที่ทุกคนรู้จัก เมื่อคำนั้นอยู่โดด ๆ ไม่มีคำแวดล้อม เป็นคำที่มีความหมายแรกในพจนานุกรม

เช่น  ลูกช้าง  หมายถึง  ลูกของช้าง

         เสือ    หมายถึง  เสือที่เป็นสัตว์

แบบที่ 2 คำที่มีความหมายโดยนัย คือ คำที่มีความหมายแฝงอยู่ ไม่ได้มีความหมายตรงตามรูปคำ  แต่ต้องใช้การตีความร่วมด้วย  มักมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ หรือการเปรียบเทียบ และพบในวรรณคดีและการนำเสนอข่าวสารค่อนข้างมาก

เช่น  ลูกช้าง  หมายถึง คำสรรพนามแทนตัวผู้พูด เมื่อขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์

         เสือ  หมายถึง  โจร  เช่น  เสือผาดปล้นหมู่บ้าน 

       เมื่อเราได้ฟังหรืออ่านข้อความต่าง ๆ แล้วเราต้องตีความอีกว่า คำที่ใช้ในข้อความนั้นหมายถึงอะไร  เราต้องพิจารณาจากคำข้างเคียงของคำศัพท์นั้น ๆ เราจึงจะเข้าใจความหมายของข้อความได้ เช่น

    - ฉันถูกเขาตบตาเรื่องนี้มานานแล้ว   วันนี้ตาสว่างเสียที

   หมายถึง  ฉันถูกเขาหลอกลวงเรื่องนี้มานานแล้ว  วันนี้รู้ความจริงเสียที

   ไม่ได้หมายความว่า ฉันถูกทำร้ายร่างกาย โดยการถูกตบตีที่ดวงตาเพราะเรื่องนี้ 

ตัวอย่างคำที่มี ทั้งความหมายโดยตรงและความหมายโดยนัย

คำ - ความหมายโดยตรง / โดยนัย

เทพ - เทวดา / เก่งมาก

เซียน - เทวดา (จีน) /เก่งมาก

รากหญ้า - รากต้นหญ้า / คนส่วนใหญ่ที่                                            ยากจน

ปูพรม - ปูพรมบนพื้น / กระจายกำลัง                               ค้นหาอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่

มือขวา - มือข้างขวา / คนสนิทของ              เจ้านาย สามารถทำงานแทนเจ้านายได้

ซองขาว - ซองสีขาว / ถูกไล่ออกจากงาน

หิน - ก้อนหิน / ยาก, หนัก

วันทอง - นางวันทองคือชื่อตัวละครจากเรื่องขุนช้างขุนแผน / หญิงที่มีสามีหลายคน หรือหญิงหลายใจ  มากรัก

ตีนแมว - เท้าของแมว / โจรย่องเบา

พ่อพระ - พ่อของพระ / ผู้ชายที่ใจดีมาก

งูเห่า - งูที่มีพิษร้ายแรง / คนที่เลี้ยงไม่เชื่อง มักทำร้ายคนที่ให้ความช่วยเหลือตัวเอง

      คำเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากอยากรู้ว่าคำนั้นมีความหมายโดยตรงหรือความหมายโดยนัย  ต้องอ่านทั้งข้อความแล้วค่อยตีความความหมายของคำนั้นนะคะ  



วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2567

บทอาขยาน จาก บทพากย์เอราวัณ

      "บทพากย์เอราวัณ" เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์  ตอน ศึกอินทรชิต  ซึ่งเป็นการพรรณนาถึงความยิ่งใหญ่ และความสวยงาม ของช้างเอราวัณ 

       ช้างเอราวัณ เป็นช้างทรงของพระอินทร์  เมื่อพระอินทร์เสด็จไปในที่ต่าง ๆ เทพบุตรชื่อ "เอราวัณ" จะแปลงกายเป็นช้างเอราวัณ เพื่อเป็นเทพพาหนะให้กับพระอินทร์นั่นเอง

        เรามาดูความยิ่งใหญ่ของช้างเอราวัณ จากบทอาขยานต่อไปนี้เลยค่ะ

       อินทรชิตบิดเบือนกายิน      เหมือนองค์อมรินทร์

ทรงคชเอราวัณ

    ช้างนิรมิตฤทธิแรงแข็งขัน      เผือกผ่องผิวพรรณ

สีสังข์สะอาดโอฬาร์ 

    สามสิบสามเศียรโสภา       เศียรหนึ่งเจ็ดงา

ดังเพชรรัตน์รูจี

    งาหนึ่งเจ็ดโบกขรณี          สระหนึ่งย่อมมี 

เจ็ดกออุบลบันดาล

    กอหนึ่งเจ็ดดอกดวงมาลย์    ดอกหนึ่งแบ่งบาน

มีกลีบได้เจ็ดกลีบผกา            

    กลีบหนึ่งมีเทพธิดา          เจ็ดองค์โสภา

แน่งน้อยลำเพานงพาล

    นางหนึ่งย่อมมีบริวาร       อีกเจ็ดเยาวมาลย์

ล้วนรูปนิรมิตมารยา

    จับระบำรำร่ายส่ายหา      ชำเลืองหางตา

ทำทีดังเทพอัปสร

    มีวิมานแก้วงามบวร        ทุกเกศกุญชร   

ดังเวไขยันต์อมรินทร์

    ..........................................................


    

วันอังคารที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2566

เปลี่ยนคำพูด เปลี่ยนความรู้สึก

         เคยไหมที่เวลาที่เราได้ยินคำพูดบางคำหรือข้อความบางข้อความแล้วทำให้เรารู้สึกแย่และไม่อยากได้ยินจนถึงขั้นปิดกั้นการรับรู้ไปเลย  คำพูดเหล่านั้นถือว่าเป็นคำพูดที่มีพลังลบอย่างรุนแรง ส่งผลต่อผู้ฟังเป็นอย่างมาก  เราอาจเรียกคำพูดเหล่านั้นว่า Toxic  Words   (คำพูดเชิงลบ คำพูดที่เป็นพิษต่อคนฟัง)

        ถ้าเราเปลี่ยนคำพูดเหล่านั้นให้เป็นคำพูดที่มีพลังบวก คนฟังก็จะรู้สึกดีขึ้น และเปิดใจรับฟังมากขึ้น  ทำให้ลดแรงปะทะลงได้ค่อนข้างมาก

        ถึงเวลาที่เราควรมาฝึกพูดเสริมพลังบวกกันหรือยังคะ...?...

        เรามาลองเปลี่ยนข้อความต่อไปนี้ ให้เป็นข้อความที่มีพลังบวกกันค่ะ

๑. ทำงานได้แค่นี้เองเหรอ    

เปลี่ยนเป็น...เราอยากเห็นความก้าวหน้าของคุณไปอีกระดับ  ช่วยทำงานมาให้เราดูใหม่อีกทีนะ

๒. อย่าทำงานสะเพร่าอีกเด็ดขาด

เปลี่ยนเป็น...จะดีกว่ามั้ยถ้าเราทำจะตรวจสอบงานก่อนส่งต้นฉบับทุกครั้ง

๓. เธอจะทำได้เหรอ

เปลี่ยนเป็น....ฉันเชื่อว่าเธอทำได้แน่นอน / ฉันเชื่อนะ ว่าเธอทำได้แน่นอน

๔. เธอเป็นคนทำงานเก่งแต่ไม่รอบคอบ

เปลี่ยนเป็น...เธอเป็นคนทำงานเก่งนะ ทีนี้ถ้าเธอเช็ครายละเอียดอีกที จะทำให้งานออกมาดีแน่นอน

๕. กลุ่มนี้ทำผลงานออกมาดีแต่ยังไม่สวยนะ

เปลี่ยนเป็น....กลุ่มนี้ทำผลงานออกมาดีนะ  ทีนี้ถ้าเราเพิ่มการตกแต่งเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย ก็จะทำให้ผลงานของเราดูดีขึ้นมากเลย

๖. อย่าวิ่งนะ

เปลี่ยนเป็น...เดินช้าลง  / ค่อย ๆ เดิน / เดินช้าแบบนี้  ถูกต้องค่ะ

๗. หยุด  อย่ากรี๊ดนะ

ลองเปลี่ยนเป็น...น้องเสียงเบากว่านี้ แล้วพี่จะมาคุยด้วย เพราะน้องเสียงดังแบบนี้ พี่ฟังไม่รู้เรื่อง

๘. ไม่ยากเลย ใคร ๆ ก็ทำได้

ลองเปลี่ยนเป็น...มา..เรามาตั้งใจกัน  ฉันเชื่อว่า เธอทำสิ่งที่ยากได้แน่นอนอยู่แล้ว

๙. ทำแบบนี้ดีกว่า

ลองเปลี่ยนเป็น...ขอคำปรึกษาหน่อยค่ะว่า...ทำแบบนี้ดีไหมคะ

๑๐. ดูเธอสิ  ผอมยังกะกุ้งแห้งเลย  กินเยอะ ๆ หน่อย

ลองเปลี่ยนเป็น...ช่วงนี้หุ่นเพรียวขึ้นนะ ถ้ามีกล้ามเนื้ออีกนิด ก็จะดูมีสุขภาพดีขึ้นนะ

    ลองฝึกใช้คำพูดเชิงบวกกันดูนะคะ  รักษาน้ำใจคนฟัง  ปังทุกข้อความค่ะ



วันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ข้อสอบ คำเป็น คำตาย

 คำเป็น  คำตาย เป็นเรื่องที่มักจะใช้ออกข้อสอบวัดความสามารถด้านภาษาไทย  ก่อนทำข้อสอบ ไปทบทวน เคล็ดไม่ลับของคำเป็น - คำตาย ได้ที่นี่จ้า   https://kroomam.blogspot.com/2013/09/blog-post.html

 หากมั่นใจแล้ว   เรามาฝึกทำข้อสอบกันเลยจ้า

๑. "จงหยุดสูบบุหรี่  เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบ" 

     ๑.๑.  ข้อความนี้  มีคำเป็น กี่พยางค์  

๑)  ๗ พยางค์        ๒) ๘  พยางค์       ๓) ๙ พยางค์       ๔) ๑๐ พยางค์        ๕) ๑๑ พยางค์

    ๑.๒  ข้อความในข้อ  ๑    มีคำตาย  กี่พยางค์ 

๑)  ๗ พยางค์        ๒) ๘  พยางค์       ๓) ๙ พยางค์       ๔) ๑๐ พยางค์        ๕) ๑๑ พยางค์


๒. "ป่าดิบชื้นมีอยู่ในภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทย"

    ๒.๑ ข้อความนี้  มีคำเป็น กี่พยางค์  

๑)  ๗ พยางค์        ๒) ๘  พยางค์       ๓) ๙ พยางค์       ๔) ๑๐ พยางค์        ๕) ๑๑ พยางค์

    ๒.๒ ข้อความในข้อ  ๒    มีคำตาย  กี่พยางค์  (นับพยางค์ซ้ำ)

๑)  ๕ พยางค์        ๒) ๖  พยางค์       ๓) ๗ พยางค์       ๔) ๘ พยางค์        ๕) ๙ พยางค์


๓. "การเพิ่มห้องสมุดสาธารณะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้คนอ่านหนังสือมากขึ้น"

     ๓.๑ ข้อความนี้  มีคำเป็น กี่พยางค์  

๑)  ๑๓ พยางค์        ๒) ๑๔  พยางค์       ๓) ๑๕ พยางค์       ๔) ๑๖ พยางค์      ๕) ๑๗ พยางค์

    ๓.๒ ข้อความในข้อ  ๓    มีคำตาย  กี่พยางค์  

๑)  ๓ พยางค์        ๒) ๔  พยางค์       ๓) ๕ พยางค์       ๔) ๖ พยางค์        ๕) ๗ พยางค์


๔. "อาการปวดประสาทจากโรคงูสวัดรุนแรงเพียงใด  คนที่ไม่เคยเป็นยากจะเข้าใจได้"

    ๔.๑ ข้อความนี้  มีคำเป็น กี่พยางค์  

๑)  ๑๔ พยางค์        ๒) ๑๕  พยางค์       ๓) ๑๖ พยางค์       ๔) ๑๗ พยางค์      ๕) ๑๘ พยางค์

    ๔.๒ ข้อความในข้อ  ๔    มีคำตาย  กี่พยางค์  

๑)  ๖ พยางค์        ๒) ๗  พยางค์       ๓) ๘ พยางค์       ๔) ๙ พยางค์        ๕) ๑๐ พยางค์


๕. "การผลิตทองรูปพรรณแบบโบราณ  ช่างจะใช้มือทำในเกือบทุกขั้นตอน"

    ๕.๑ ข้อความนี้  มีคำเป็น กี่พยางค์  

๑)  ๘ พยางค์        ๒) ๙  พยางค์       ๓) ๑๐ พยางค์       ๔) ๑๑ พยางค์      ๕) ๑๒ พยางค์

    ๕.๒ ข้อความในข้อ  ๔    มีคำตาย  กี่พยางค์  

๑)  ๕ พยางค์        ๒) ๖  พยางค์       ๓) ๗ พยางค์       ๔) ๘ พยางค์        ๕) ๙ พยางค์




เฉลยคำตอบ

ข้อ ๑  "จงหยุดสูบบุหรี่  เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบ"

ข้อ ๑.๑ ตอบข้อ  ๓)   มีคำเป็น  ๙ พยางค์  ได้แก่คำว่า  จง / หรี่ /  เพื่อ / ความ / เสี่ยง / ใน / การ / หัว / ใจ 

ข้อ ๑.๒ ตอบข้อ ๔) มีคำตาย  ๑๐ พยางค์ ได้แก่คำว่า  หยุด / สูบ / บุ / ลด / เกิด / โรค / และ / หลอด / เลือด / ตีบ


ข้อ ๒  "ป่าดิบชื้นมีอยู่ในภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทย"

ข้อ ๒.๑ ตอบข้อ  ๓)  มีคำเป็น  ๙ พยางค์  ได้แก่คำว่า ป่า / ชื้น / มี / อยู่ / ใน / วัน / ใต้ / ของ / ไทย

ข้อ ๒.๒ ตอบข้อ  ๔)   มีคำตาย  ๘ พยางค์  ได้แก่คำว่า  ดิบ / ภาค / ตะ / ออก / และ / ภาค / ประ / เทศ 


ข้อ ๓ "การเพิ่มห้องสมุดสาธารณะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้คนอ่านหนังสือมากขึ้น"

ข้อ ๓.๑ ตอบข้อ  ๕)  มีคำเป็น  ๑๗ พยางค์  ได้แก่คำว่า  การ / เพิ่ม / ห้อง / สา / ธา / เป็น / ช่อง / ทาง / หนึ่ง / ที่ / ช่วย / ให้ / คน / อ่าน / หนัง / สือ / ขึ้น

ข้อ ๓.๒ ตอบข้อ  ๔)  มีคำตาย ๖ พยางค์  ได้แก่คำว่า  ส / มุด / ร / ณะ / จะ / มาก


ข้อ ๔  "อาการปวดประสาทจากโรคงูสวัดรุนแรงเพียงใด  คนที่ไม่เคยเป็นยากจะเข้าใจได้"

ข้อ ๔.๑ ตอบข้อ  ๒)  มีคำเป็น  ๑๕  พยางค์  ได้แก่คำว่า อา / การ / งู / รุน / แรง / เพียง / ใด / คน / ที่ / ไม่ / เคย / เป็น / เข้า / ใจ / ได้ 

ข้อ ๔.๒ ตอบข้อ  ๔)  มีคำตาย  ๔ พยางค์  ได้แก่  ปวด / ประ / สาท / จาก / โรค / ส / วัด / ยาก / จะ 


ข้อ ๕. "การผลิตทองรูปพรรณแบบโบราณ  ช่างจะใช้มือทำในเกือบทุกขั้นตอน"

ข้อ ๕.๑ ตอบข้อ  ๕)  มีคำเป็น  ๑๒  พยางค์  ได้แก่คำว่า  การ / ทอง / พรรณ / โบ / ราณ / ช่าง / ใช้ / มือ / ทำ / ใน /  ขั้น / ตอน

ข้อ ๕.๒  ตอบข้อ  ๔)  มีคำตาย  ๘ พยางค์  ได้แก่คำว่า  ผ / ลิต / รูป / ป / แบบ / จะ / เกือบ / ทุก 


วันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

รู้ภาษาถิ่นเหนือ แอ่วเหนือม่วนใจ๋

          ถึงฤดูหนาวทีไร หลาย ๆ คนก็อยากจะไปเที่ยวชมหมอกสวย ๆ ลมเย็น ๆ ที่ยอดดอยในภาคเหนือและถ้าโชคดีก็อาจเจอ เหมยขาบ  หรือที่เรียกว่าแม่คะนิ้ง ในภาษาถิ่นอีสานนั่นเอง

            "เหมยขาบ" คือ ละอองน้ำค้างที่กลายเป็นน้ำแข็งแผ่นบาง ๆ เกาะอยู่บนใบไม้ในเวลาที่อากาศหนาว  ซึ่งภาคกลางเรียกว่า "น้ำค้างแข็ง"


ที่มาของภาพ : https://www.sanook.com/news/7619294/


         ภาคเหนือ ก็จะมีภาษาถิ่นที่คนเหนือซึ่งเรียกตัวเองว่า "คนเมือง"  ใช้สื่อสารกันในท้องถิ่น เราเรียกว่า "ภาษาถิ่นเหนือ" หรือ "คำเมือง" หรือ "กำเมือง"  ก็เรียกได้จ้า
        
        วันนี้ก็เลยอยากพาทุกคนมาเรียนรู้ภาษาถิ่นเหนือ หรือ คำเมือง ที่คนเมืองเหนือใช้สื่อสารกันผ่านบทสนทนาระหว่าง คนเมือง กับ ล่าม ค่ะ  มาดูกันค่ะ...

        คนเมือง : วันนี้จะปาเปื้อน ๆ ไปแอ่วดอยกั๋นเน้อ
        ล่าม       :  วันนี้จะพาเพื่อน ๆ ไปเที่ยวภูเขากันนะ

        คนเมือง : จากนั้นหมู่เฮาจะปากั๋นไปกิ๋นน้ำเงี้ยวกับข้าวซอยของลำประจ๋ำตี้นี่เลยหนา
        ล่าม       : จากนั้นพวกเราจะพากันไปกินน้ำเงี้ยวกับข้าวซอยของอร่อยประจำที่นี่เลยนะ

        คนเมือง  : ต๋อนนี้ถ้ารถอยู่  แหมน้อยรถก็จะมาละ  
        ล่าม        :  ตอนนี้กำลังรอรถอยู่  อีกหน่อยรถก็จะมาแล้ว

        คนเมือง : รถมาแล้วคับ  จะปากันไปตี้ไหนพ่องน้อ
        ล่าม       :  รถมาแล้วครับ  จะพากันไปที่ไหนบ้างน้อ

        คนเมือง  : หมู่เฮาจะขึ้นดอย  ไปไหว้สาพระธาตุ แล้วก็จะไปแหมหลายตี้อยู่เจ้า
        ล่าม       :  พวกเราจะขึ้นไปภูเขา  ไปไหว้พระธาตุ แล้วก็จะไปอีกหลายที่ค่ะ

        คนเมือง   : เปื้อน ๆ ผ่อข้างตางหนา  พระธาตุอยู่ตางปุ๊น  วิวงามขนาด   งามแต๊งามว่า
        ล่าม        :  เพื่อน ๆ ดูข้างทางสิ         พระธาตุอยู่ทางนู้น  วิวสวยมาก     สวยจริง ๆ

        คนเมือง  :  ไผจะหาซื้อของไปฝากหมู่ ก็ย่างหาซื้อต๋ามร้านก๊าเลยเน้อ  เปิ้นบ่ไหวแล้ว  เจ็บขา
        ล่าม        :  ใครจะหาซื้อของไปฝากเพื่อน ก็เดินหาซื้อตามร้านค้าเลยนะ  ฉันไม่ไหวแล้ว  ปวดขา

        คนเมือง  :  วันนี้แดดแฮง  ถ้ามีจ้องติ๊ดตั๋วมาโตยก็น่าจะดีเนาะ
        ล่าม        :  วันนี้แดดแรง   ถ้ามีร่มติดตัวมาด้วยก็น่าจะดีนะ

        คนเมือง  :  ปิ๊กจากไหว้พระธาตุแล้ว     ก็อย่าลืมไปแวะกาด      ซื้อกำกิ๋นไปกิ๋นมะแลงตวยเน้อ
        ล่าม        :  กลับจากไหว้พระธาตุแล้ว  ก็อย่าลืมไปแวะตลาด    ซื้ออาหารไปกินตอนเย็นด้วยนะ

        คนเมือง  : วันนี้มาอู้กำเมืองหื้อหมู่ฟังเต้าอี้เน้อเจ้า  วันลูนจะมาอู้กำเมืองหื้อเปื้อน ๆ ได้ฟังกั๋นแหมเจ้า
        ล่าม        : วันนี้มาพูดคำเมืองให้เพื่อน ๆ ฟังเท่านี้นะคะ  วันหลังจะมาพูดคำเมืองให้เพื่อน ๆ ได้ฟังกันอีกนะคะ

        คนเมือง   :  สวัสดีเจ้า
        ล่าม         :  สวัสดีค่ะ

    หมายเหตุ - ภาษาเหนือที่ใช้ในตัวอย่างนี้ อาจแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ เล็กน้อย เนื่องจากแต่ละพื้นที่ย่อมมีคำและสำเนียงการอ่านที่แตกต่างกันบ้าง แต่ก็ยังสื่อสารกันได้และเข้าใจตรงกันจ้า
   


ปู่ม่านย่าม่าน (กระซิบรักบันลือโลก)  วัดภูมินทร์  อ.เมืองน่าน   จ.น่าน

ที่มาของภาพ : https://www.sanook.com/horoscope/127389/



        

วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2566

คำยืมภาษาอังกฤษนี้ที่ถูกตัดย่อพยางค์

         ฮัลโหล !  วันนี้เรามาเรียนรู้เรื่อง คำยืมจากภาษาอังกฤษที่คนไทยมักนำมาใช้พูดสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นความเคยชินไปแล้ว จนบางครั้งนึกว่าเป็นคำไทยเสียอีก

        คำยืมจากภาษาอังกฤษ ที่เรายืมมาใช้นั้นมีอยู่อย่างหลากหลาย สามารถพบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะชื่อเรียกสิ่งต่าง ๆ  เช่น อาหาร  เครื่องดื่ม  ผัก  ผลไม้  เครื่องดนตรี  ของใช้ทั่วไป   เครื่องแต่งกาย  เครื่องสำอาง  ศัพท์ทางวิชาการต่าง ๆ โดยเฉพาะศัพท์ทางวิทยาศาสตร์  ศัพท์ทางการแพทย์  หรือแม้แต่ชื่อเล่นของน้อง ๆ รุ่นใหม่  ซึ่งส่วนใหญ่มักออกเสียงเป็นคำภาษาอังกฤษนั่นเอง

       คำยืมจากภาษาอังกฤษนั้น มีทั้งคำที่มีพยางค์เดียว และคำที่มีหลายพยางค์  และแน่นอนว่า เมื่อคนไทยยืมคำเหล่านั้นมาใช้ เราก็ต้องมีการปรับให้คนไทยสามารถออกเสียงคำเหล่านั้นให้ง่ายขึ้น ด้วยการตัดพยางค์จากคำต้นฉบับให้สั้นลง  อาจตัดพยางค์แรกของคำออก หรือตัดพยางค์กลางคำออก หรืออาจตัดพยางค์ท้ายคำออกก็ได้

        แม้ว่าคำยืมเหล่านั้นจะถูกตัดให้มีเสียงสั้นลง แต่คนไทยก็ยังสามารถเข้าใจว่าหมายถึงสิ่งใด และเรามักนำคำเหล่านั้นไปใช้ในกรณีที่ไม่เป็นทางการ หรือใช้ในภาษาพูดเท่านั้น

        ในการตัดพยางค์ของคำที่มาจากภาษาอังกฤษให้สั้นลงจะสามารถทำได้ แต่พยางค์ที่ถูกตัดแล้ว จะต้องเป็นพยางค์ที่คนทั่วไปยอมรับและเข้าใจตรงกัน  ไม่ใช่อยากจะตัดคำไหนให้สั้นลง ก็ตัดเอาเองโดยที่คนอื่นเขาไม่เข้าใจ  แบบนี้ก็ไม่ได้นะจ๊ะ

        เรามาดูตัวอย่างคำยืมจากภาษาอังกฤษ ที่ถูกตัดให้มีพยางค์น้อยลงกว่าเดิมกันดีกว่าจ้า

1. มอเตอร์ไซค์   ใช้ว่า    มอไซค์

2. ไมโครเวฟ      ใช้ว่า    เวฟ

3. ฟุตบอล          ใช้ว่า   บอล

4. วอลเลย์บอล   ใช้ว่า  วอลเลย์

5. บาสเกตบอล    ใช้ว่า   บาส

6. กิโลเมตร         ใช้ว่า   กิโล   (คนไทยตัดสั้นไปอีก  ใช้ว่า  โล)

7. กิโลกรัม          ใช้ว่า   กิโล   (คนไทยตัดสั้นไปอีก   ใช้ว่า   โล)

8. ลิปสติก           ใช้ว่า  ลิป

9. เนกไท             ใช้ว่า  ไท

10. อีเมล              ใช้ว่า   เมล

11. แบดมินตัน      ใช้ว่า   แบด

12. แซ็กโซโฟน    ใช้ว่า  แซ็ก

13. ไมโครโฟน      ใช้ว่า  ไมค์

14. คอมพิวเตอร์    ใช้ว่า  คอม

15. อินเทอร์เน็ต     ใช้ว่า  เน็ต

16.  เว็บไซต์           ใช้ว่า   เว็บ

17. เฟซบุ๊ก             ใช้ว่า  เฟซ

18. ไนต์คลับ           ใช้ว่า  คลับ

19. มาเลเซีย           ใช้ว่า   มาเลย์

20. แบตเตอรี          ใช้ว่า  แบต

21. อินโดนีเซีย         ใช้ว่า  อินโด

22. คอนโดมิเนียม    ใช้ว่า  คอนโด

23. คอนเสิร์ต           ใช้ว่า  คอน

24. ก๊อปปี้                 ใช้ว่า  ก๊อป

25. เว็บเพจ               ใช้ว่า  เพจ

26. โคคาโคล่า          ใช้ว่า  โคล่า

27. โอเวอร์                ใช้ว่า  เวอร์

28. เกมโอเวอร์           ใช้ว่า   เกม

29. แอร์คอนดิชันเนอร์  ใช้ว่า แอร์คอนดิชัน  ตัดให้สั้นอีก    ใช้ว่า  แอร์ 

30. ฮิปโปโปเตมัส         ใช้ว่า  ฮิปโป

31. ดับเบิ้ล                    ใช้ว่า เบิ้ล

32. แอปพลิเคชัน          ใช้ว่า  แอป

33. คอมเมนต์                ใช้ว่า  เมนต์

34. อัปโหลด                  ใช้ว่า  อัป

35. ดาวน์โหลด              ใช้ว่า  โหลด

36. ยิมเนเซียม               ใช้ว่า  ยิม

37. แฮมเบอร์เกอร์          ใช้ว่า  เบอร์เกอร์

     คงจะพอเห็นตัวอย่างการตัดคำให้สั้นลงกันแล้วนะคะ  ถ้าเราใช้คำที่ตัดสั้นจนเคยชิน อาจจะทำให้เราลืมคำเต็มของคำนั้นไปเลยก็ได้นะ

     แล้วคุณล่ะ...ชอบใช้คำแบบเต็ม ..หรือคำแบบตัดพยางค์...? ...